ศาลเจ้าหลักเมืองสงขลา
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
10 กรกฎาคม 2555
เมื่อมีการจัดงานสมโภชหลักเมืองสงขลา 170 ปี ในวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม 2555 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา ได้จัดรายการพิเศษ เป็นการถ่ายทอดเสียง พิธีเปิดงานสมโภช มีบุคคลสำคัญ ที่มาร่วมงานคือ นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายพีระ ตันติเศรนี นายกเทศมนตรี นายประกอบ ฟุ้งทศธรรม นายกสมาคมฮกเกี้ยนอำเภอเมืองสงขลา และผู้นำในการถ่ายทอดเสียง นายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผอ.สวท.สงขลา นายพิศาล ภมรนาค หัวหน้าฝ่ายรายการ นายวุฒิ บุญเพ็ชร นายวิสารท หล่อสุพรรณพร นางสาวสุธิดา พฤกษ์อุดม นางสาวศุภระวรรณ นฤชาติ นางสาวปทิตตา แก้วสุวรรณ นางสาวธัญวรรณ จิรโร นายสุริยา บุญตีบ และ ต่อไปนี่คือ ประวัติเสาหลักเมืองสงขลา
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ตั้งอยู่เลขที่ 104 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นโบราณสถานสมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะอาคารเป็นศาลเจ้าแบบเก๋งจีน สร้างเมื่อ พ.ศ.2385 สมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา
กรมศิลปากรได้ประการขึ้นทะเบียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 มีอาณาเขตคือ
ทิศเหนือ ยาว 13 วา ทิศตะวันออก ยาว 1 เส้น 5 วา
ทิศใต้ยาว 13 วา ทิศตะวันตกยาว 1 เส้น 5 วา
โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้
ในปีพ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาที่แหลมสนย้ายเมืองข้ามทะเลสาบมาที่ฝั่งบ่อยางเพื่อขยายเมืองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มีการก่อกำแพงพร้อมป้อมตัดถนนต่าง ๆ เสร็จในปีพ.ศ. 2385 จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จัดการฝังหลักไชยเมืองสงขลา ทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่งกับเทียนชัยเล่มหนึ่ง พร้อมเครื่องไทยทานต่าง ๆ และโปรดเกล้าให้พระอุดม ปิฎกออกไปเป็นประธานด้านพุทธพิธี พร้อมด้วยพระฐานานุกรมเปรียญ 8 รูป และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ออกไปเป็นประธานพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยพราหมณ์ 8 นาย
งานฝังหลักไชยเริ่มด้วยพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง)เจ้าเมืองสงขลาได้เกณฑ์กรมการและไพร่จัดการทำโรงพิธีขึ้นกลางเมืองสงขลา โดยตั้งโรงพิธีสี่ทิศ ในวันพิธีได้จัดขบวนแห่หลักไม้ไชยพฤกษ์กับเทียนชัยเป็นขบวนใหญ่มีทั้งชาวจีนและชาวไทยเพื่อแห่ไปยังโรงพิธี พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม เจริญพระปริตร พร้อมกับพระครูพราหมณ์สวดตามไสยเวท เมื่อได้เวลาอุดมฤกษ์เดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1204 เวลา 7 นาฬิกา 10 นาที ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2385 พระยาสงชา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ อัญเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังที่กลางใจเมืองสงขลาซึ่งเรียกว่า หลักเมือง จนถึงทุกวันนี้ภายหลังการฝังหลักเมืองเสร็จตามพิธีแล้ว พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง)จัดให้มีมีมหรสพสมโภช 5 วัน 5 คืน ในงานมีทั้งละครหรือโขนร้อง 1 โรง หุ่น 1โรง งิ้ว 1 โรง ละครชาตรี (โนรา) 4 โรง และถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ 22 รูป
ต่อมาพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง)ได้ให้ช่างสร้างตึกคร่อมหลักเมืองไว้ 3 หลังเป็นตึกจีนแบบเก๋งจีนเป็นศาลเจ้าหลักเมือง และสร้างศาลเจ้าเสื้อเมืองอีกหนึ่งหลัง
888888888888 |