www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 60 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4169 คน
4169 คน
1749437 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13


เส้นทางการค้าในสมัยโบราณ
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
23 มีนาคม 2553
 
          จีนเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนแถบทะเลใต้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยเปิดให้มีการติดต่อทางเรือกับหมู่เกาะต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บันทึกของจีนในสมัยต่อมาระบุว่า จีนได้ส่งเรือมายังดินแดนทะเลใต้ในช่วงพุทธศักราช 427-433 และประเทศต่าง ๆ ในทะเลใต้ ก็ได้ส่งทูตไปยังจีน ในบันทึกดังกล่าวยังระบุว่า ชาวโรมันและอินเดียได้เข้ามาในภูมิภาคนี้ในช่วงปีพุทธศักราช 470-494 อย่างไรก็ตามในเอกสารอินเดียระบุว่า อินเดียรู้จักดินแดนแถบนี้ในชื่อของ สุวรรณภูมิ ซึ่งแปลว่า คาบสมุทรทองคำ มาเป็นเวลาร่วม 100 ปี ก่อนสมัยพุทธกาล โดยพ่อค้าชาวอินเดียแล่นเรือมาแถบตอนใต้ของพม่าและคาบสมุทรมลายูเพื่อค้นหาแหล่งแร่ทองคำและดีบุก ในสมัยต่อมาปรากฏหลักฐานว่าราวพุทธศักราช 143 พระเจ้าอโศก ได้ส่งนักเผยแพร่พุทธศาสนามายังแถบสุวรรณภูมิ สำหรับการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอินเดียในช่วง 400 ปี ก่อนพุทธศักราชนั้นได้ใช้เส้นทางบกผ่านตอนกลางของเอเชียแถบยูนนาน และตอนเหนือของพม่า บางครั้งก็ใช้เส้นทางแม่น้ำคงคาและพรหมบุตรเดินเรือ เชื่อมต่อจากมหาสมุทรอินเดียกับพื้นที่ทางตะวันตกของจีน  จนกระทั่งเมื่อจีนเปิดเส้นทางเดินเรือในย่านทะเลใต้ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบคาบสมุทรมลายู เป็นศูนย์กลางการติดต่อซื้อขายสินค้าระหว่างจีนกับอินเดียและอีกหลาย ๆ ชาติในเวลาต่อมา
 
หลังพุทธศตวรรษที่ 5 การค้าขายระหว่างจีนกับอินเดียได้ใช้เส้นทางสายหลัก ๆ ได้แก่
1.)เส้นทางบกผ่านตอนเหนือของประเทศพม่า 2.) เส้นทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดา และ 3.) เส้นทางเรือและขึ้นบกข้ามฝั่งคาบสมุทรแถบอินโดจีน โดยเฉพาะเส้นทางคาบสมุทรนั้น จากหลักฐานร่องรอยทางโบราณคดีพบว่าเส้นทางสายหลัก 3 เส้น ทางที่มีความสำคัญทางการค้าในระยะแรก ๆ ได้แก่ เส้นทาง 1.)ตะกั่วป่า-ไชยา 2.)เคดาห์-ปัตตานี 3.)ทวาย-พงตึกและพระปฐม 
 
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 จีนผ่อนคลายความเข้มงวดในการครอบครองดินแดนพม่า โดยในปี พ.ศ. 885 ข้อตกลงในการครอบครองดินแดนพม่าก็ถูกยกเลิก เส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดียผ่านประเทศพม่าจึงถูกปิดลงเป็นเวลายาวนานกว่า 400 ปี นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การค้าผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทรจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา ประกอบกันในเวลาต่อมาการค้าทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา ถูกอาณาจักรศรีวิชัย เข้าควบคุมอย่างเข้มงวดโดยบังคับให้เรือทุกลำต้องเข้าจอดที่ท่าเรือที่กำหนดเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาโจรสลัดชุกชุมในช่องแคบมะละกา การเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาในยุคนั้นจึงเสื่อมความนิยมลงไป การเดินทางผ่านข้ามคาบสมุทรจึงได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เมืองท่าบริเวณชายฝั่งบนคาบสมุทรภาคใต้มีความรุ่งเรืองเป็นอันมาก และมีเมืองอีกหลายเมืองเกิดขึ้นและเป็นเมืองค้าขายที่สำคัญในเวลาต่อมา เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีหลักฐานโบราณคดีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 3 เส้นทางทาง เส้นทางที่มีความสำคัญระยะต่อมา คือ เส้นทางกระบุรี-เขาสามแก้ว(ชุมพร) เส้นทางพังงา-อ่าวบ้านดอน เส้นทางกระบี่-นครศรีธรรมราชและอ่าวบ้านดอน เส้นทางตรัง-นครศรีธรรมราช และเส้นทางสตูล-สงขลา เส้นทางเหล่านี้คือ สะพานเศรษฐกิจ หรือ แลนด์บริดจ์ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในภาคใต้ นั่นเอง
 
การค้าสมัยศรีวิชัย
          อาณาจักรศรีวิชัยในบันทึกของชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเอกสารราชวงศ์ของจีนสมัยต่าง ๆ รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดี ที่หลงเหลือปรากฏอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อาณาจักรศรีวิชัยมีขอบเขตตั้งแต่เมืองไชยาลงไปตามคาบสมุทร จนถึงเกาะสุมาตรา เชื่อกันว่าผู้สร้างอาณาจักรนี้ลงเรือผ่านมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งที่เมืองตะกั่วป่าราว 1,200 ปีที่ผ่านมา เดินทางข้ามคาบสมุทรมาครอบครองเมืองไชยาได้แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าไสเลนทร การสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัยขึ้นอยู่กับการมุ่งมั่นขยายอำนาจทางการค้าเป็นสำคัญ เมื่อพระเจ้าไสเลนทรขยายอำนาจการครอบครองดินแดนตอนกลางของแหลมมลายูแล้ว ก็ทรงจินตนาการว่า ควรดำเนินราโชบายต่อไปอย่างไรจึงจะสมกับที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะปราบโลก อย่างน้อยก็ปราบโลกที่พระองค์รู้จัก ถ้าว่าส่วนโลกที่อยู่เหนืออ่าวบ้านดอนขึ้นมา ก็เป็นแผ่นดินอยู่ระหว่างทะเลกับทิวเขาตะนาวศรี มีเนื้อที่แคบยาวขึ้นไปไกล ไม่สมกับที่ทรงพยายามแผ่      เดชานุภาพขึ้นไป เพราะแผ่นดินตอนที่ว่า อาจเป็นย่านกลางว่างเปล่าไม่เป็นของใคร ทำนองจะเป็นแดนปันอาณาเขตของพระองค์กับอาณาจักรทวาราวดี พระเจ้าไสเลนทรจึงแปรพระพักตร์ไปเสียทางใต้ของแหลมมลายู ทรงเห็นว่า ถ้าได้ปกครองแผ่นดินทางช่องแคบมะละกา ก็จะเป็นประโยชน์ให้ควบคุมเรือแพนาวาที่ทำมาค้าขายผ่านช่องแคบนั้น จะทำให้ประเทศของพระองค์มั่งคั่งสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหตุที่ช่องแคบมะละกาเป็นย่านสำคัญ เพราะก่อนนี้สินค้าแพรของประเทศจีนที่ส่งไปขายต่างประเทศทางตะวันตกมีการขนส่งไปทางบก ผ่านพื้นที่ตอนกลางของทวีปเอเชีย และเมื่อปี พ.ศ.1206 ประเทศธิเบต แข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับจีน การขนส่งสินค้าแพร ที่จำเป็นที่ส่งผ่านไปในธิเบตต้องหยุดลง พ่อค้าจึงต้องหันไปขนส่งทางทะเล ซึ่งต้องผ่านช่องแคบมะละกา   ในส่วนของโจรสลัด ก็ต้องหาแก้ไขปัญหาและป้องกัน ต่อไป แต่พระเจ้าไสเลนทรทรงเห็นว่า ถ้าได้ครอบครองช่องแคบมะละกา ก็จะต้องได้ครอบครองเกาะสุมาตราด้วย อาณาจักรศรีวิชัยมีการค้าขายกับอินเดียมาก มีเรือบรรทุกสินค้าไปจำหน่ายยังมีเมืองท่าต่าง ๆในอินเดียและจีน เมืองท่าที่บนคาบสมุทรในสมัยนั้น ได้แก่ กัตตาหะ ตรังค์ ไชยา ตามพรลิงค์ ลังกาสุกะ กลันตัน ตะโกลา เป็นต้น
 
การค้าอาณาจักรสุโขทัย
          กรุงสุโขทัยได้รับการสถาปนาเมื่อประมาณ พ.ศ.1800 หรืออาจก่อนหน้านั้น จากนั้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ได้ขยายอำนาจลงไปตลอดแหลมทอง โดยได้ครอบครองอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรทวาราวดี และอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีการค้าขายมาก่อน กรุงสุโขทัยมีตลาดใหญ่ มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ อาทิ การค้าขายกับจีน การค้าขายกับมอญ พ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงมองเห็นช่องทางที่จะทำให้ประเทศมั่งคั่งสมบูรณ์ จากการค้าขายระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารสยาม ว่า อุดหนุนให้มหาชนไปมาค้าขายถึงกันในระหว่างเมืองต่อเมืองและประเทศต่อประเทศ ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าวเจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงงัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส” คำว่าจกอบหรือจำกอบ หรือจังกอบ เป็นภาษาเขมร แปลว่าภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บจากผู้นำสัตว์และสิ่งของที่มาจำหน่าย จกอบคงจะเรียกเก็บจากสินค้าเข้าออกของพ่อค้าที่ค้าขายกันในแหลมทองมาตั้งแต่โบราณ ดังเช่น ประเทศฟูนันและศรีวิชัย ทุกเมืองในชั้นหลัง ๆ ก็คงจะดำเนินการมาแบบเดียวกัน การที่พ่อขุนรามคำแหงได้เลิกเก็บจกอบนี้เสีย แสดงว่าพระองค์มุ่งส่งเสริมการค้าขายระหว่างประเทศเป็นการใหญ่ เปิดโอกาสให้พ่อค้าไทยกับต่างประเทศได้นำสินค้าเข้ามาและออกจากอาณาจักรสุโขทัยได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอากรใด ๆ ทั้งสิ้น (Free Trade)
 
การปรับปรุงแก้ไขการเขียนอักษรไทยขึ้นใหม่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้ช่วยให้การติดต่อค้าขายสะดวกมากขึ้นแก่ภายในและภายนอกประเทศ การยกเลิกจกอบเป็นการเปิดทางให้มีการค้าขายอย่างเสรีแบบที่เรียกว่า Free Trade   พร้อมทั้งได้ขยายการค้าควบคู่ไปกับการขยายอาณาเขต
 
สำหรับเส้นทางการค้าสมัยกรุงสุโขทัย ที่สำคัญและใช้ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานได้แก่ 
1.)เส้นทางระหว่างกรุงสุโขทัยกับเมืองเมาตะมะ มะริดและตะนาวศรี เป็นเส้นทางเชื่อมกรุงสุโขทัยกับมอญ พม่า อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ และ แอฟริกา พ่อค้าไทยนำสินค้า อาทิ เครื่องสังคโลกจากสุโขทัยผ่านแม่สอดไปเมืองเมาะตะมะ อันเป็นปลายทางและเป็นเมืองท่าสำหรับขนส่งสินค้าต่อไปยังประเทศดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง
 
2.)เส้นทางสุโขทัยกับหัวเมืองฝ่ายใต้ ตั้งแต่เพชรบุรี ลงไป นครศรีธรรมราช ปัตตานี ตลอดแหลมมลายู
 
3.)เส้นทางสุโขทัย กับ จีน เขมร สุมาตรา ชวา ฟิลิปปินส์ เกาหลี ลังกา (ศรีลังกา) และอินเดีย
 
 
การค้าสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
การค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 1893 ตั้งแต่ปีที่พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างพระนครใหม่ แล้วทำการราชาภิเษก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ขนานนามราชธานี ว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา คำว่า ทวาราวดี เอามาจากชื่ออาณาจักรเดิม คือ อาณาจักรทวาราวดี
 
อายุของกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.1893 ถึง พ.ศ.2320 เป็นจำนวน 417 ปี บ้านเมืองที่มีความเจริญและความเสื่อมจนกระทั่งสิ้นสูญ การค้าขายของประเทศในช่วงนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์บ้านเมือง โดยมีชาวยุโรปเข้ามาค้าขายอันมีวิธีค้าที่ทำใกล้บ้านเมืองต้องปรับปรุงลักษณะการค้าต่าง ๆ เข้าหาเพื่อให้ทัดเทียมกันในเชิงการค้า ไม่ให้ชาวต่างชาติเอาเปรียบได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ ลักษณะการค้ากับชนชาวเอเชียด้วยกันเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการค้ากับชาวยุโรปก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นิสัยไทยรักชาติ รักศาสนา รักอิสรภาพ มองเห็นลักษณะการค้าของชนชาวยุโรปเป็นการเมืองไปบ้าง เป็นการศาสนาไปบ้าง ก็เลยทำให้การติดต่อค้าขายไม่ราบรื่น ต้องชะงักหรือขาดตอนเป็นคราว ๆ ภาวะการค้าในระยะเวลา 417 ปี ของสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงผิดแผกแตกต่างกัน และกรุงศรีอยุธยา ได้แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ
 
1.)ตั้งแต่สมัยพระรามาธิบดีอู่ทอง จนถึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 คือตั้งแต่ปี พ.ศ.1893- 2034 จัดเป็นตอนต้นของการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการค้าแบบโบราณที่เป็นอย่างไทยแท้
 
2.)ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 จนถึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่ปีพ.ศ.2034-2230 จัดเป็นตอนกลางของการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการค้าซึ่งมีอิทธิของชนชาวยุโรปเข้ามาเจือปน เริ่มต้นตั้งแต่ชนชาติโปรตุเกส เข้ามาในแผ่นดิน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นครั้งแรก
 
3.)ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเทพราชา จนถึง เสียกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2231 -2310 จัดเป็นตอนปลายของการค้าในสมัยศรีอยุธยา เป็นการค้าซึ่งอิทธิพลของชาวยุโรป คลายออกไป
 
เมื่อพระเจ้าอู่ทอง ตั้ง กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นอิสระ หัวเมืองฝ่ายใต้ที่เป็นราชอาณาเขตของกรุงสุโขทัยเดิม ได้เข้ามาขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด นับตั้งแต่เมืองราชบุรี เพชรบุรีลงไปจนกระทั่งเมืองยะโฮร์ สุดแหลมมลายู อาณาเขตทิศเหนืออยู่เพียงเมืองลพบุรี ติดต่อกับอาณาเขตสุโขทัย ส่วนทางตะวันออก พระเจ้าอู่ทองได้ทำสงครามขยายอาณาเขต ตีได้นครทม ซึ่งเป็นราชธานีของเขมร อาณากรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออก   ในสมัยพระเจ้าอู่ทองจึงขยายออกไปประมาณเท่าที่อยู่ในเวลานี้ 
 
สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสมัยรุ่งเรือง ยุคหนึ่งของของประวัติศาสตร์ไทย คนโบราณในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อพูดถึงความเจริญก็จะหมายถึง สมัยกรุงศรีอยุธยา “ครั้งบ้านเมืองดี”  การค้าขายของประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเป็นสมัยที่มีชาวยุโรปหลายชาติมาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยเป็นครั้งแรก ประวัติการค้าขายของไทยในระยะนี้จึงมีมาก โดยการค้าขายตั้งแต่ปี พ.ศ.2000 เป็นต้นมา มีจดหมายเหตุต่างประเทศพูดถึงมาก
 
ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ได้กล่าวถึงการค้าภายในประเทศไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก การค้าต่างประเทศเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่แยกกล่าวถึงการค้าภายในไว้เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่า ไทย แต่โบราณได้ทำการค้าขายโดยวิธีใด   จะเป็นการค้าขายเหมือนในสมัยนี้หรือไม่ ซึ่งเราได้ทราบจากศิลาจารึก ว่า ไทยมีตลาดเป็นสาธารณะสำหรับการค้าขาย โดยเฉพาะตลาดของเราเรียกว่า ปสาน ซึ่งนักปราชญ์ว่ามาจากคำ Bazaar  ในภาษาเปอร์เซีย ถ้าเรานึกภาพอย่างแขกไม่ออก ก็ให้คิดไปถึงตลาดสำเพ็งหรือสภาพตลาดสดที่หัวลำโพง ในสมัยโบราณไทยมีตลาดจัดไว้เป็นประจำโดยเฉพาะมาแล้ว และเราได้ทราบจากจดหมายเก่า ๆ ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ว่าการค้าขายของไทยมีชนิดทุนเดียว มีหุ้นส่วน มีบัญชี มีขายเงินสด เงินเชื่อ มีลูกจ้าง ฯลฯ อย่างสมัยนี้แทบทุกอย่าง สรุปความว่า ไทยมีวัฒนธรรมในการค้ามาแล้วตั้งแต่ สมัยโบราณดึกดำบรรพ์อย่างพร้อมมูล ไทยไม่ได้ค้าแบบแลกเปลี่ยน Barter อันเป็นวิธีของมนุษย์ที่เพิ่งเริ่มเจริญนั้นอย่างเดียว ไทยเป็นชาติมีวัฒนธรรมในการค้า โดยมีบทบัญญัติเป็นกฎหมายมาแล้วร่วม 700 ปี ลักษณะการค้าขายภายในคงเป็นอย่างที่กล่าวมานี้ตลอดไป และก็การค้าภายในนั้นเมื่อมีการค้าต่างประเทศมากขึ้น ย่อมติดต่อเกี่ยวโยงกับการค้าต่างประเทศแน่นเข้าทุกที ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางมีชาวต่างประเทศเข้ามาทำการค้าขายหลายชาติ หลายภาษา ต่างชาติได้นำสินค้าของประเทศตนเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าพื้นเมืองไทย ทำให้การค้าภายในต้องหมุนอนุโลมตามการค้าต่างประเทศยิ่งขึ้นทุกที
 
ผ่านมาถึงช่วงที่การค้าของสมัยกรุงศรีอยุธยา ซบเซา ปรากฏว่าการค้าที่เมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรภาคใต้ยิ่งดำเนินไปเป็นปกติบางเมืองยิ่งมีการค้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน ชาวต่างประเทศยังคงเดินทางมาค้าขายเป็นปกติ บันทึกของชาวต่างประเทศและเอกสารของฝ่ายไทยกล่าวตรงกันว่าภาคใต้ของไทยเป็นทำเลการค้ากับต่างประเทศดีที่สุดในเอเชีย หากได้มีการพัฒนาเส้นทางผ่านคาบสมุทรและมีท่าเรือที่ดี ก็จะเป็นทำเลการค้าของโลก ดังที่ได้กล่าวถึงในหนังสือประวัติการค้าของไทยจัดพิมพ์โดยกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ.2486 ความตอนหนึ่งว่า
 
“..........แม้นฮอลันดากับอังกฤษตลอดจน โปรตุเกส และ สเปญ ต่างพากันหยุดการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาไปชั่วคราวก็ตาม แต่ชนชาติเหล่านั้นยังดำเนินการค้าขายในภาคตะวันออกไม่ทอดทิ้ง อังกฤษแม้นจะถอนการค้าขาย   จาก กรุงศรีอยุธยา แต่ยังขอสิทธิการค้าในเมืองละคร(นครศรีธรรมราช) ซึ่งฮอลันดาก็มีอยู่ตลอดจนเมืองสงขลา และปัตตานี ต่อไปอีก แม้การค้าของไทยจะชงัก ซึ่งเป็นไปตามการผันแปรเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์บ้านเมืองแต่ทำเลของไทยยังคงเป็นทำเลที่ดีที่สุด และเหมาะกับการค้าขายของโลกเสมอไปโดยประเทศไทยมีเมืองเรียงรายอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก ตะวันออกหน้านอกหน้าใน เป็นเมืองท่าเหมาะที่ทำการค้าขายได้ทั้งสองฝั่งสมุทร อนึ่งฝั่งทะเลทั้งสองนี้ เชื่อมกันได้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เมืองตกโกลา (ตะกั่วป่า) ทางฝั่งตะวันตกทะเลหน้านอกเคยเชื่อมกับเมืองครหิ(ไชยา) ตลอดลงมาถึงบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี ) ทางฝั่งตะวันออกทะเลหน้าใน เมืองตรังทะเลหน้านอกเคยเชื่อมกับทะเลหน้าใน เช่น นครศรีธรรมราช และสงขลา เมืองมะริด เคยเชื่อมกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ตามที่พวกพ่อค้าแขกฝรั่งไทยเคยขนสินค้าผ่านแต่โบราณเสมอมา”
 
ตัวอย่างการขนสินค้าและการเดินทางบกจากฟากทะเลหนึ่งตัดข้ามคาบสมุทรไปยังอีกฟากหนึ่ง เพื่อความรวดเร็วสะดวกมีมาแล้วเช่นนี้ ถ้าไทยพยายามให้ตะวันตกกับตะวันออก ของไทยมาพบกัน เชื่อมกันได้หลาย ๆ แห่งให้สะดวกและรวดเร็วดั่งเช่นถนนสายตรัง-พัทลุงในปัจจุบัน และทำเมืองท่าสองฝั่งให้ดีก็จะเป็นประโยชน์แก่การค้าของประเทศอย่างยิ่งใหญ่
 
การค้าสมัยกรุงธรบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ 
การค้าในสมัยกรุงธนบุรีไม่ค่อยปรากฏในพงศาวดารไทย อาจเป็นระยะเวลาที่ต้องรวบรวมอาณาเขตหลังผ่านช่วงสงครามสมัยอยุธยา แต่การค้าก็คงเป็นมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกับจีน มีสำเภาเข้ามาค้าขายอย่างมิได้ขาด ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสว่าราชทูตไทยไปเมืองจีนและมีสำเภาจีนมาค้าขายกับไทยตลอดรัชกาล นอกจากนั้นยังมีเรือจากตรังกานู ปัตตาเวีย และจากเมืองสุรัตประเทศอินเดียมาค้าขายด้วยเช่นกัน
 
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นยุคที่การคบค้าสมาคมของชาติไทยได้กลับคืนและตื่นตัวอย่างเต็มที่ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์   ทรงมองเห็นประโยชน์ของการคบค้าสมาคม และยังได้ประโยชน์ให้เกิดจากการค้าเป็นอเนกประการ ไทยมีการคบค้าสมาคมและยังได้ประโยชน์ให้เกิดการค้าเป็นอเนกประการ ไทยมีการคบค้ากับทุกประเทศ เช่น จีน ญวน มลายู อินเดีย อเมริกา ฝรั่งเศสและชาติยุโรปอีกหลาย การค้าทางทะเลเริ่มใช้เรือจักรกลมากขึ้นตามแบบของยุโรป แทนที่เรือกำปั่นไฟ เรือกำปั่นใบ และเรือสำเภาที่ใช้มาแต่เดิม การค้าทางเรือจึงสะดวกรวดเร็วและบรรทุกสินค้าไปมาค้าขายได้มากขึ้น การค้าจึงเกิดอย่างกว้างขวาง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาไทยได้เปิดการค้าขายแก่นานาประเทศ ไม่มีการผูกขาดสินค้าใด ๆ เป็นของหลวง เป็นการเปิดประตูการค้าอย่างแท้จริง การค้าของไทยซื้อง่ายขายคล่อง เงินทองเข้ามาในประเทศเป็นอันมาก รัฐบาลได้ปรับปรุงกลไกการค้าขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ในปี พ.ศ.2403 ตั้งโรงกษาปณ์ ในปี พ.ศ. 2458 ตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์   ปี พ.ศ.2463 ตั้งกระทรวงพาณิชย์และสภาเผยแพร่พาณิชย์ หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งเป็นกระทรวงคมนาคมและพาณิชย์การ กระทรวงเศรษฐพาณิชย์การ กระทรวงเศรษฐการ และมาเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน 
 
การค้าที่รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การค้าต่างประเทศของเมืองต่าง ๆ ในภาคใต้รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณตลอดมาจนกระทั่งสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งนี้เนื่องจากมีอิสระในการค้าขายและปกครองตนเอง สมัยต่อมาได้มีการปรับปรุงการปกครอง โดยมีสมุหกลาโหม เป็นผู้ควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้ หลังจากนั้น ได้ยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราช ให้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด จากนั้นต่อมาได้เปลี่ยนแปลงการบริหารราชการเป็นแบบมณฑล และรวบรวมมณฑลใกล้เคียงเป็นภาค มีอุปราชเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละภาค โดยในปีพ.ศ.2459 ได้รวมมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี และมณฑลสุราษฎร์ธานี เข้าด้วยกันเป็นภาคใต้ มีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่สงขลา และมีกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เป็นอุปราชภาค การเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อระบบเทศาภิบาลเป็นอันมาก เป็นการลดอำนาจสมุหเทศาภิบาลทุกมณฑลลงไป งานทุกเรื่องต้องผ่านอุปราชภาคก่อน ในขณะที่เสนาบดีทุกกระทรวงสามารถสั่งราชการกระทรวงตนโดยตรงต่อสมุหเทศาภิบาล งานราชการแต่ละมณฑลจึงสับสนและช้ากว่าเดิมมาก ดังที่ปรากฏในเอกสารรายงานประชุมเทศาภิบาล พ.ศ.2465 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2465 ความไม่สงบและการต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นทั่วไป หลายมณฑลได้รับผลกระทบทุกด้าน ทั้งการค้า การคลัง การศึกษา การศาลและการศาสนา ในที่สุดรัฐบาลต้องยกเลิกมณฑลภาคและตำแหน่งอุปราช พร้อมทั้งคืนอำนาจการปกครองแบบเทศาภิบาลให้แก่กระทรวงมหาดไทยและสมุหเทศาภิบาล จวบจน พ.ศ.2476 คณะราษฎร์ก็ประกาศยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล ทั้งหมด คงเหลือเป็นจังหวัดอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน 
 
การปกครองแบบจังหวัดที่เป็นมาตลอด โดยแท้จริงแล้วเป็นเพียงการย่อส่วนมณฑลเทศาภิบาลให้เล็กลงเหลือเพียงระดับจังหวัด ส่วนวิธีการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก กล่าวคือ ยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง คือ กระทรวงทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง การบริหารราชการเป็นไปด้วยความล่าช้า ผ่านขั้นตอนมาทุกกรม กอง การบริหารการเงินการคลังแบบรวมศูนย์เป็นต้นเหตุของความล่าช้าในการใช้งบประมาณประจำปี และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้จังหวัดต่าง ๆ ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่ ตามศักยภาพที่มีอยู่ นอกจากนั้นการพัฒนาประเทศที่ผ่านมามักไม่เป็นไปตามแผนของชาติเพราะงบประมาณแผ่นดินถูกช่วงชิงไปพัฒนาระดับจังหวัด 
 99999999999999

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com