www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 61 คน
 สถิติเมื่อวาน 59 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
4170 คน
4170 คน
1749438 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13



1.  2. 
3. 4.
5. 6.
7.  8.

คำอธิบายภาพ 

บ้านสี่แยกสมเด็จ จะมีงานงิ้วที่จะต้องจัดทุกปี ในระหว่างวันที่ 9-14 ธันวาคม

ภาพ1.ภาพถ่าย การแห่องค์กฐิน ผู้เขียน คือคนที่ตัวเล็กสุด ยืนถือต้นไม้กระดาษ  ต้องบอกว่ามุมยืนผมสวยมากครับ ระหว่างพี่สาวผมสองคน  ตอนแรกช่างภาพจัดให้เฉพาะพี่สาวยืน  ส่วนตัวผม  ช่างภาพไม่ได้บอกว่าให้ยืนตรงไหนผมต้องวิ่งหามุมเอาเอง ครับ  ความจริงพี่ ๆ ยืนบังผมหมดครับ  ต้องหามุมเอาเอง ก็ออกมาอย่างที่เห็น นี่แหละครับ (อายุของภาพ ประมาณ 45 ปี)

ภาพ 2.ภาพถ่ายหน้าองค์กฐิน  ผมยืนอยู่ตรงกลางแบบเบียด ๆ ระหว่างพี่สาวกับแม่(ซ้ายมือ)  ตอนนั้นจำได้ว่า  ช่างภาพไม่รู้จะจัดผมไว้ตรงไหน ผมต้องวิ่งหามุมเอาเอง  ก็ได้ตรงนี้แหละ  คือไปยืนแทรกระหว่างเก้าอี้ได้ เพราะผมตัวเล็ก 

ภาพ 3.ภาพถ่าย คนผู้เฒ่าที่มาร่วมแห่องค์กฐิน ส่วนมากได้เสียชีวิตหมดแล้ว  จะเหลือก็จะเป็นพวกเด็ก ๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้ ก็จะมีอายุ 50 ปีขึ้นไปครับ  ถ้าสังเกตดี ๆ มุมขวามือ  คือบ้านหลังใหม่ 2 ชั้น  ที่พ่อเพิ่งสร้างเสร็จ 

ภาพ 4.ภาพถ่ายขบวนแห่  องค์กฐิน  มุมขาวมือที่เห็นต้นฉำฉา หรือ ต้นก้ามปู  บริเวณนั้นจะเป็นบ้านของ เจ็กซะยง  กับ  เจ็กยักษ์  ส่วนคนที่ ใส่เสื้อลาย  อายุประมาณ 14-15 ปี ที่หลังสะพายถังไอติม คือ พี่เผด็จ  ลูกพ่อใหญ่ลี กับยายดาว  ตอนนี้พี่เผด็จ  คงเกษียณ อายุในอาชีพตำรวจ คงเห็นนะครับว่า  เด็ก ๆ ดูมีความสุขมากกับการได้ร่วมขบวนแห่องค์กฐิน 

ภาพ 5.ภาพถ่าย ภาพนี้เป็นภาพต่อเนื่องกับภาพที่ 4 ด้านหลังขบวนแห่จะเป็นบริเวณสี่แยก  หลังต้นไม้จามจุรีซ้ายมือ  คือ เสาหลักเมือง  เป็นเสาไม้  ตอนนี้เป็นเสาปูนแข็งแรงสวยงาม  บริเวณนี้คือ สีแยก เป็นเส้นทางที่มาบรรจบกัน  ถนนด้านซ้ายมือ  ไป อำเภอกุฉินารายณ์ หรือ บัวขาว  ด้านขวามือ คือ ถนนไปอำเภอสหัสขันธ์  ถ้าตรงไปด้านหลังขบวนแห่  ก็จะไปตัวเมืองกาฬสินธุ์  ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร  ถ้าขบวนนี้เดินตรงไปประมาณ 80 กิโลเมตร ก็จะไปจังหวัดสกลนคร

ภาพ 6.ภาพถ่ายถนนไปจังหวัดสกลนคร  ภาพนี้อยู่ระหว่าง บ้านหนองบัวโดน กับ บ้านกอก อีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึง เทือกเขาภูพาน 

ภาพ 7.ขวามือคือบ้านใหม่ที่พ่อเพิ่งสร้างเสร็จ  เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น (สร้างเมื่อปี 2508) ใช้อยู่อาศัยมาจนถึงวันนี้ ข้ามถนนไปคือบ้านของ เจ็กซะยิ้ม ร้านที่ขายโอเลี้ยงที่อร่อยที่สุด ปัจจุบันไม่มีแล้ว

ภาพที่ 8.เป็นภาพที่ถ่ายหลังโรงเรียนสมเด็จพิทยาคม  บริเวณอ่างเก็บน้ำ  ซ้ายมือคือ  ด.ช.นุสันต์  ยวงวิภักดิ์(ไม่รู้ชตากรรม)  ด.ช.วิโรจน์  ตาสาโรจน์ (เป็นตำรวจ)และ ด.ช.ณรงค์  ชื่นนิรันดร์ (ผู้เขียน)

 
ชีวิตนักข่าว...ประวัติบ้านเกิด อำเภอสมเด็จ
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
14 กุมภาพันธ์ 2553
 
กว่าผมจะมีอาชีพเป็นนักข่าว มีเรื่องทีสลับซับซ้อน และมีความประทับใจในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องในวัยเรียน และวัยทำงาน ที่ผมได้มีโอกาสได้ศึกษา อยู่ในหลายพื้นที่ ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ต่อไปนี้ผมจะขอเล่า ช่วงชีวิตที่ผมได้อยู่กับพ่อแม่ที่ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของอำเภอสมเด็จ อันเป็นบ้านเกิดของผม เพราะผมดูข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ มีให้ศึกษาน้อยมาก จะรู้ก็เพียงว่า ชื่ออำเภอสมเด็จ ใครเป็นคนตั้ง แล้วตัวอำเภอมาจากที่ใด แต่จะไม่มีข้อมูลทางสังคมศาสตร์ ให้เราได้ศึกษาเลยว่า ผู้คนที่อำเภอสมเด็จ ได้อพยพมาจากที่ใด ทำไมพวกเขาจึงมาตั้งรกรากกันที่นี่ เพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ไม่มีให้เราได้เรียนรู้และศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ไม่มีใครรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ แต่ก็นับว่าเป็นความโชคดีของผม ที่คุณพ่อ จะชอบให้มีการถ่ายภาพ เก็บกิจกรรมที่ทางบ้านได้ทำขึ้น อาทิงานบุญกฐิน คุณพ่อก็จะจ้างช่างภาพ มาจากตัวเมืองกาฬสินธุ์มาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นจำนวนมาก และยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ 
 
ก่อนอื่นผมขอนำข้อมูล ที่ได้มา นำเสนอให้ท่านได้ทราบความเป็นมาของอำเภอสมเด็จที่หาได้ทั่วไปก่อนนะครับ
 
เมื่อ พ.ศ. 2485 สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนคร ประธานสังฆมนตรีฝ่ายธรรมยุติ ได้จาริกมาตรวจเยี่ยมกิจการคณะสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มาหยุดพักฉันท์ภัตตาหารเพลที่บ้านหนองกุง ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณสี่แยกที่ตัดถนนใหม่ไปยังจังหวัดสกลนคร ประมาณ 5 กิโลเมตร จึงได้ประทานนามหนองกุงใหม่ว่า บ้านหนองกุงสมเด็จ ตอนนั้นบริเวณสี่แยกตรงนี้ยังไม่มีชื่อเรียกที่ชัดเจน แต่ชาวบ้านจะเรียกกันว่าบ้านสี่แยก เพราะเป็นทางตัดกันเป็นสี่แยก ที่สามารถเดินทางไป สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และ สหัสขันธ์  และที่บริเวณ 4 แยก จะมีเสาหลักเมืองปักไว้อยู่หนึ่งเสาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของประชากรที่อพยพมาอยู่ใหม่
 
ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2490-2492 ทางราชการได้มีการตัดถนนจากบ้านสี่แยก ให้สามารถเชื่อมต่อ ไปจังหวัดสกลนคร ที่เป็นช่วงที่ต้องตัดถนนผ่านเทือกเขาภูพาน ที่คดเคี้ยว และลำบากที่สุด เพราะมีไข้ป่าและโรคภัยชุกชุม 
 
บริเวณสี่แยก เริ่มมีการอพยพของประชากรจากที่ต่าง ๆ มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของหนองแวง เพราะที่บ้านหนองแวง มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีหนองน้ำที่ไม่ใหญ่มากนัก จึงมีชุมชนที่นั่นก่อน ส่วนในเรื่องของการปกครอง บริเวณสี่แยก และบ้านหนองแวง ต่างขึ้นตรงกับตำบลหมูหม่ จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ. 2496 บ้านสี่แยกจึง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ตำบลสมเด็จ ตามชื่อของ สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) โดยได้แยกออกจากตำบลหมูม่น แต่ยังขึ้นตรงกับ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 
 
และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2507 ตำบลสมเด็จจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น กิ่งอำเภอสมเด็จ  ขึ้นตรงต่ออำเภอสหัสขันธ์   ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2512 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอสมเด็จ ตั้งแต่บัดนั้นมา และอำเภอสมเด็จก็ได้รับการพัฒนา เจริญเติบโต มีการอพยพของประชากรจากที่อื่นมามากขึ้น 
 
ประชากรของอำเภอสมเด็จในยุคบุกเบิก ต่างมาจากหลายเชื้อชาติ ที่มีทั้ง คนอีสาน คนไทย อยุธยา   คนจีน    และคนเวียดนาม    ผู้คนที่อพยพมาอยู่ใหม่   ต่างก็มีเหตุผล หลายอย่าง อาทิ คนเวียดนามที่ต่อไปนี้ผมขอเรียกว่าคนแกว และคนจีน ผมขอเรียกว่า เจ๊ก เพราะสมัยเด็ก ๆ ผมจะเรียกคนเหล่านั้น ตามเชื้อชาติที่เขาเป็น และผมคิดว่าจะทำให้ท่านได้เข้าใจง่ายขึ้นต่อการทำความเข้าใจ ของคนที่มาอาศัยในบ้านสี่แยกสมเด็จในยุคแรก ๆ และการเรียกดังกล่าวขอแสดงความเห็นว่า เป็นการเรียกที่ให้เกียรติ และสื่อให้เห็นตัวตนของคนที่อยู่ที่นี่ครับ
 
ผมขอพูดถึงการอพยพของครอบครัวผมก่อนนะครับ คุณพ่อ เล่าว่า ญาติที่มาอยู่ บ้านสี่แยกสมเด็จ ที่เป็นครอบครัวแรก ๆ ประมาณปีพ.ศ.2492 คือ คุณลุงบุญมา ประมงมุข กับป้าบัว ประมงมุข ซึ่งเป็นพี่สาวแม่คนโต มาตอนนั้นก็มาตั้งร้านขายอาหารประเภทลาบ ก้อย ส้มตำ ก็คืออาหารอีสาน ในสมัยนี้แหล่ะครับ เดิมคุณพ่อ คุณแม่ เป็นชาวบ้านกุดโด หรือ บ้านธนบุรี ตั้งอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ คุณพ่อคุณแม่ผมคิดอยู่หลายครั้งกว่าจะตัดสินใจ นำพาครอบครัว มาตั้งรกรากอยู่ที่สมเด็จ จนกระทั่งทนต่อความยากลำบาก ในการทำนาที่ต้องถูกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ สร้างความเสียหาย ให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก ในที่สุดคุณพ่อ จึงตัดสินใจ ที่จะพาลูกน้อย 3 คน พร้อมคุณแม่ เดินทางรอนแรมด้วยเกวียน จากบ้านกุดโด มาอยู่อาศัยและตั้งรกรากใหม่ ราวปี พ.ศ. 2495 และคุณพ่อ คุณแม่ก็ได้ให้กำเนิด พี่ชาย ตัวผมและน้องสาว ณ ดินแดนแห่งใหม่ที่ไม่ถูกน้ำท่วม เหมือนเช่นที่บ้านเดิม และที่บ้านสี่แยกสมเด็จ ต้องบอกว่า ไม่มีหนองน้ำ และไม่มีแม่น้ำสายหลักที่พอจะ ทำนาได้ ตลอดทั้งปี ดังนั้นคุณพ่อ จึงเลือกที่จะค้าขาย ประเภทขายอาหารอีสาน ในขณะเดียวกันก็มีการรับซื้อข้าวเปลือก และรับซื้อหมู ที่ชาวบ้านในแถบอำเภอกุฉินารายณ์ นำมาขาย กิจการของพ่อดีวันดีคืน ฐานะทางบ้านเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ จนพ่อสามารถที่จะส่งพี่สาวคนโตเรียนพยาบาล พี่ชายคนรอง และคนที่ สาม เรียนในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนได้อย่างสบาย เอาเป็นว่าการอพยพของพ่อที่มาอยู่ที่อำเภอสมเด็จ ก็เพราะหนีน้ำท่วมซ้ำซาก และทำนาไม่ได้ผล แต่ในที่สุดทางการจึงได้มีการสร้างเขื่อนลำปาว เพื่อแก้ไขน้ำท่วม แต่คุณพ่อของผมก็ได้อพยพมาอยู่ที่ อำเภอสมเด็จ เรียบร้อยแล้ว 
 
ส่วนคนไทยที่เป็นรุ่นแรก ๆ ก็จะมี น้าวิศิษย์ ไชยยิ่ง น้าคำพี ไชยยิ่ง (น้องแม่) พ่อใหญ่ลี พ่อใหญ่ส่วย พ่อใหญ่กุหลาบ พ่อใหญ่พรม พ่อใหญ่บุญมา พ่อใหญ่บ่อง พ่อใหญ่แสง
 
ส่วนคนจีนที่มาในรุ่นแรก ก็จะมี เจ๊กเสริฐ เปิดเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้าง ร้านนี้ลูกสาวคนโตสวยมากและลูกส่วนใหญ่ก็จะเรียนเก่งเกือบทุกคน 
 
เจ๊กเหล่าปา จะเป็นคนรูปร่างผอมบางร่างเล็กหน้าตาดี ส่วนภรรยา ชื่อยายหนูเอี่ยม รูปร่างจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ลูกสาวสวยทุกคน ทำกิจการร้านอาหารพรนภา เป็นร้านอาหารจีนที่ทำอร่อยที่สุดในอำเภอสมเด็จ และเป็นร้านที่ทำเนื้อแห้งและเนื้อทุบจนทางเจ้าหน้าที่นำไปเป็นคำขวัญของอำเภอสมเด็จ แน่นอนเหล่าบรรดาข้าราชการจึงต้องมาทานอาหารร้านนี้ จนลูกสาวบางคนได้แต่งงานกับปลัดอำเภอในสมัยนั้น ต่อมาปลัดอำเภอท่านนั้น ก็ได้เป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยตำแหน่งสุดท้ายเกษียณที่จังหวัดมุกดาหาร 
 
เจ๊กยักษ์ ที่พวกเราเรียกเจ๊กยักษ์ ก็เพราะร่างกายใหญ่โต ประดุจยักษ์ แถมยังเสียงดังอีกด้วย เจ๊กยักษ์มีภรรยา สองคน แต่อยู่คนละบ้านกัน เท่าที่ผมสังเกตเมื่อผมยังเด็ก ก็ไม่เคยเห็นเมียทะเลาะกัน ครอบครัวของเจ๊กยักษ์ก็ประกอบอาชีพขายของโชวห่วย และบดน้ำแข็งขาย ตอนเช้า ๆ ผมก็จะได้ยินเสียงบดน้ำแข็งดัง โกร้ง เล็ง ๆ ๆ จนผมต้องตื่นนอน โดยน้ำแข็งจะมีรถขนมาจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ เพราะที่สมเด็จ ไม่มีโรงน้ำแข็งครับ 
 
เจ๊กเส็ง คนนี้เป็นพ่อเพื่อน ผมไม่แน่ใจว่า แกประกอบอาชีพอะไร รู้แต่ว่า ไอ้แหยมมันคือเพื่อนผม ตอนนี้ได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นถึง นายกเทศมนตรีตำบลสมเด็จ เวลาผมเรียกชื่อไอ้แหยม ผมจะเรียกชื่อพ่อมันเพราะสนิทกัน สมัยตอนเป็นเด็กเรียนอยู่ชั้นประถม ผมกับไอ้แหยมต่อยกันบ่อยมาก บางครั้งมันก็ชนะ บางครั้งผมก็ชนะ ไม่พอใจกันเมื่อไหร่ เมื่อถึงตอนเที่ยงก็นัดต่อยกันหลังโรงเรียนบ้านสี่แยกสมเด็จ วันนั้นผมจำได้ว่าไอ้แหยมมันซัดผม จนผมเพลี่ยงพล้ำ เป็นฝ่ายถูกมันต่อยจนผมอยู่ข้างล่างมัน ตอนนั้นผมเห็นแต่พายุหมัด ทะลุแสงอาทิตย์วูบวาบวูบวาบ โดนหน้าผมอยู่หลายหมัด จนเพื่อน ๆที่ไปด้วยกันแยกผมกับไอ้แหยมออกจากกัน วันนั้นผมแพ้มัน แต่ตอนนี้ ผมต้องเรียกท่านนายกชวลิต ไม่ได้เรียกไอ้แหยม ที่เคยเรียกเมื่อ 40 ปี ที่แล้ว
 
เจ๊กซะยิ้ม มีอาชีพขายกาแฟ โอเลี้ยง ก๋วยเตี๋ยว และที่สำคัญเจ๊กซะยิ้ม ยังมีฝีมือในการทำลูกชิ้นขาย กรรมวิธีทำลูกชิ้นของแก เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าสมัยนี้เขาไม่ทำกันแล้ว เพราะจะมีเครื่องทำลูกชิ้น เมื่อเราใส่เนื้อพร้อมเครื่องปรุงเข้าไปมันก็จะออกมาเป็นลูกชิ้นให้เราพร้อมที่จะนำไปทานได้เลย ครับ แต่สมัยก่อนไม่ใช่เช่นนั้นครับ ผมเห็นเจ๊กซะยิ้ม เอาเนื้อมาวางบนเขียงจากนั้นก็จะใช้เหล็กแบน ๆ หนา ๆ ลักษณะเหล็กจะเหมือนตะไบ ใช้ทุบเนื้อ เสียงจะดังตุบตั๊บ ๆ วันไหนที่ผมได้ยินเสียงก็หมายความว่า วันนี้เจ๊กซะยิ้ม ได้ลงมือทำลูกชิ้นอีกแล้ว บ้านเจ๊กซะยิ้มจะอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านผม เวลาผมจะกินโอเลี้ยงก็ต้องวิ่งข้ามถนนไปซื้อ ต้องบอกว่าโอเลี้ยงของแกหอมอร่อยจริง ๆ รับรองว่าไม่มีร้านไหนอร่อยเหมือนร้านแก แต่อาจจะมีอยู่ที่เดียวที่ผมคิดว่าโอเลี้ยงอร่อยเหมือนในอดีตคือ ที่สนามบิน บน.6 ดอนเมืองครับ เจ๊กซะยิ้มมีลูกอยู่หลายคน แต่ที่ผมจำได้คือ บักเม่า บักแว้ เสียชีวิตแล้วเนื่องจากถูกจิ๊กโก๋กรุงเทพรุมยำอาจจะหมั่นไส้ เพราะบักแว่ มันหล่อ ขาว เพราะมันเป็นลูกจีน และ เจ้แหม่ม นอกนั้นผมรู้จักหน้าแต่ก็จำชื่อไม่ได้แล้วเพราะไม่ได้ใกล้ชิดกันเท่าไหร่
 
เจ๊กซะยง มีอาชีพในการสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร แกมีโรงสีเล็ก ๆ อยู่หนึ่งโรง และยังมีอาชีพในการรับซื้อข้าวเปลือก ปอ และของเกษตร ที่ชาวบ้านนำมาขาย เจ๊กซะยง มีลูกชายอยู่สองคน คนเล็กอ้วนมาก ตอนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ เห็นว่าเป็นดีเจวิทยุชุมชนที่ส่งกระจายเสียงอยู่ในอำเภอสมเด็จ 
 
เจ๊กยาว หรือเจ๊กเคียง มีอาชีพในการรับซื้อผลิตผลการเกษตร เหมือนกับเจ๊กซะยง และยังมีอีกอาชีพหนึ่งคือ รับสอนภาษาจีน ให้กับผู้ที่สนใจจะเรียนภาษาจีน ที่ผมเรียกเจ๊กยาว ก็เพราะชาวบ้านทั่วไปไม่รู้ชื่อจริงของแก จึงเรียกแกในลักษณะที่เป็นโครงร่างของแกที่ผอมสูง เจ๊กยาวนอกจากจะสูงประมาณ 180 ซม. แล้ว ในหน้ายังคนสันรูปไข่ ตาเรียวยาว คางแหลม แต่ภรรยาที่เป็นคนไทย กลับอ้วนถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งผมยังจดจำใบหน้าของภรรยาเจ๊กยาวได้ดี คือ ใบหน้ากลม ตาโต ผมสั้น สันจมูกใหญ่ คือเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แกมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ เจ้ตือ รูปร่างเหมือนแม่เปรี๊ยบเลย ตอนนี้ก็อายุประมาณ 52 ปี แล้วครับ
 
เจ๊กเชี่ยว เป็นคนจีนที่อพยพมาอยู่สมเด็จ ในยุคหลัง ที่ผมทราบก็เพราะว่า เจ๊กเชี่ยวเดิมอยู่ที่อำเภอสหัสขันธ์ ที่ย้ายมาอยู่สมเด็จก็เพราะ ตัวอำเภอสหัสขันธ์ ถูกน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนลำปาว เจ๊กเชี่ยว เท่าที่ทราบ แกก็มีที่ทางค่อนข้างเยอะ เมื่อทางการมีการเวนคืนที่ดินที่น้ำเขื่อนจะท่วมถึง แกจึงได้ค่าเวนคืนที่ดินค่อนข้างเยอะ จากนั้นจึงได้ย้ายมาอยู่สมเด็จ ประกอบอาชีพในการรับซื้อพืชผลทางการเกษตร เปิดปั้มน้ำมัน และสร้างโรงหนังชื่อสมเด็จรามา เป็นโรงหนังที่ทันสมัยมาก โรงหนึ่งของอำเภอสมเด็จ แต่ต่อมาธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ไหวจึงต้องปิดกิจการลง เพราะการเข้ามาของหนังในรูปแบบวีดีโอ 
 
เจ๊กซัว เป็นคนจีน ที่มีอาชีพในการขายเนื้อหมูในตลาดสดอำเภอสมเด็จ มีบ้านเรือตั้งอยู่หลังตลาดสมเด็จ มีลูกหลานหลายคน เท่าที่ผมจำได้ มีพี่สำราญ สมัยเรียนหนังสือ เตะตะกร้อเก่งมาก ทราบมาว่า ตอนนี้มีอาชีพเป็นครู
 
เจ๊กเซียม มีอาชีพรับซื้อของป่าทั่วไป หน้าตาของเจ๊กเซียมผมพอจะจำได้ว่า แกเป็นคนหน้าตาดี พูดไทยไม่ค่อยชัด มีลูกหลายคน เกือบทุกคนมีอาชีพค้าขาย และหลายคนก็ทำมาค้าขายที่ตลาดสมเด็จ ที่รู้จักก็คือ เจ้หงา กับเฮียหยู 
 
เจ๊กหลอลี่ มีอาชีพขายทองคำ ประเภทสร้อยคอทองคำ เจ๊กหลอลี่ รูปร่างอ้วนลงพุง มีภรรยาเป็นคนไทย ลูกหลายคนผมรู้จัก อาทิ เจ้แมว 
 
เจ๊กกวง มีอาชีพขายทองคำเหมือกับเจ๊กหลอลี่ เจ๊กกวงเป็นคนรูปหล่อ มีลูกหลายคน หนึ่งในนั้นคือเพื่อนผม   คือ นายสมศักดิ์ แซ่ก๊วย อายุ 51 ปี ตอนนี้ร้านทองปิดตัวลง ลูก ๆ ก็ใช้ร้านเดิม แบ่งกันทำมาหากิน ทั้งเปิดร้าน ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และร้านเขียนป้าย 
 
ผมต้องบอกท่านว่า สมัยที่ผมเป็นเด็กก็มักจะมีรุ่นพี่ ๆ ที่เกเร เกตุง นำชื่อคนจีน และชื่อคนไทยแต่ละคนมาแต่ง เป็นกลอน เพื่อให้จำได้ง่าย ยกตัวอย่าง คือ เจ๊กซัวขายหมู เจ๊กตู้ขายไก่ เจ๊กใหม่ขายของ พ่อใหญ่ผองขายนา อ้ายหนายิงน้อง อ้ายทองตายซ้ำ นอกนั้นยังมี อีกครับ คือ ยายปุ่นขายห.. แพทย์สีฉีดยา ยายปาขายข้าวปุ้น ตามด้วย เฒ่าส่วยขายห.เฒ่าดีขายลาบ (พ่อผมเองครับ) เฒ่ากุหลาบตัดผม เฒ่าพรมขายข้าว    
 
ผมพอที่จะอธิบายให้ท่านทราบ เพื่อให้มีความเข้าใจ กลอนที่ว่ามานี้ คือ เจ๊กซัว มีอาชีพฆ่าหมูขาย ส่วนเจ๊กตู้ มีอาชีพฆ่าไก่ขาย เจ๊กใหม่ มีอาชีพเปิดร้านขายของทั่วไป ส่วนพ่อใหญ่ผอง แก่ประกาศขายที่นา ก่อนที่จะย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น อ้ายหนามีเรื่องราวกับน้องถึงกับยิงน้องตาย   นอกนั้นอีกคำกลอน อีกอันหนึ่งก็คือ ยายปุ่น มีอาชีพเปิดซ่องโสเภณี ส่วนแพทย์สี ความจริงแกไม่ได้เรียนจบแพทย์หรือพยาบาลมาหรอกครับ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแกจบอะไรมา แต่แกมีความสามารถในการรักษาพยาบาล โดยวิธีการฉีดยารักษาโรค สำหรับยายปา มีอาชีพขายข้าวปุ้น หรือขนมจีน นั่นแหล่ะครับ ทราบว่ายายปาตายเมื่อ อายุได้ 98 ปี อายุยืนยาวจริง ๆ ครับ สมัยเป็นเด็กผมยังจำได้ติดตา ที่ยายปา แกกำลังดาหญ้าอยู่ริมถนนทางไปโรงเรียน ความรู้สึกของผมตอนนั้น อยากจะช่วยแก ผมคิดเลยไปไกล ว่าหากผมมีอำนาจวาสนา ในด้านการปกครองจะพัฒนาทำถนนคอนกรีต ไม่ต้องให้แกมาดาหญ้า เห็นแกแล้วก็อดสงสารไม่ได้
 
เอ้า...อธิบายต่อ สำหรับเฒ่าส่วย แกมีอาชีพเปิดซ่องโสเภณี ก็อาชีพเดียวกับยายปุ่น แต่อยู่คนละสำนัก ส่วนเฒ่าดีขายลาบ ท่านคือพ่อผมเองครับ พ่อมีอาชีพขายอาหารอีสาน ประเภทลาบ ข้าวเหนียว ส้มตำ สำหรับเฒ่ากุหลาบ มีอาชีพเป็นช่างตัดผม ส่วนเฒ่าพรมก็มีอาชีพรับซื้อข้าวเปลือก  
 
ที่ อ.สมเด็จยังมี ชาวเวียดนาม อพยพมาตั้งรกราก อยู่หลายคน ส่วนใหญ่ ถ้ารู้เป็นคนเวียดนามหรือคนญวน พวกเราก็จะเรียกว่า คนแกว แล้วก็จะตามด้วยชื่อ คนแรกที่ผมจะแนะนำให้รู้จัก คือ
 
แกวแหวง หรือ นายแสวง วรหาญ มีบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านผม อาชีพของแกวแหวง คือเป็นหมอรักษาคนไข้ สมัยเป็นเด็กผมเคยเป็นไข้สูง ขนาดเพ้อ แม่ผมไม่รู้ว่าจะไปรักษาที่ไหนก็เลยพาผม มาหาหมอแหวง ฉีดยาให้ผมเข็มหนึ่ง ผมหายป่วยเลยครับ ดีจริง ๆ ตอนหลังพอผมโตขึ้น จึงรู้ว่ายาที่หมอแหวงฉีดให้ผมในวันนั้นคือยา เพ็นสเตปส์ เป็นฉีดปฏิชีวนะ ผมไม่ทราบว่าสมัยนี้ยังมีอยู่หรือไม่ หมอแหวง มีลูกหลานหลานคน บางคนก็เปิดร้านขายยาที่สมเด็จ บางคนเรียนเก่งจบทันตแพทย์ บางคนจบปริญญาโท  แยกย้ายไปทำงาน บ้านที่อยู่ติดบ้านของผมยังคงอยู่ แต่ก็เก่ามาก รู้สึกว่าจะไม่มีคนอยู่ เพราะลูก ๆ ก็ต่างมีครอบครัว กันหมดแล้ว     
 
นอกนั้น ก็มี แกวโดน ผมไม่แน่ใจว่า เป็นพี่ชายหรือน้องชายของ แกว แหวง ลูกหลานหลายคนเปิดร้านอาหารอีสานอยู่ในตลาดอำเภอสมเด็จ มีชื่อเสียงมาก อาทิ เนื้อทุบ หม่ำ 
 
แกวเตียน หรือองค์เตียน เป็นพ่อเพื่อนผม เปิดร้านขายของประเภทเสื้อผ้า ปัจจุบันลูกหลานย้ายไปอยู่ที่ ตัวเมืองสกลนคร 
 
แกวสิงห์ ผมจำไม่ได้ว่าลูกหลานแกทำอะไร รู้แต่ว่า บ้านอยู่ในตลาด สี่แยกสมเด็จ  
 
บ้านสี่แยกสมเด็จ ยังมีชาวอินเดียและ ปากีสถาน มาประกอบอาชีพ อาทิ นายอาระมิตร มีอาชีพขับรถแท็กซี่สาย สมเด็จ สกลนคร นอกจากนี้ยังมีแขกโย มีอาชีพฆ่าวัวขาย และเท่าที่ผมจำได้ ยังมีแขกอยู่คนหนึ่ง อายุประมาณ 60 ปี ลักษณะอ้วนลงพุง พวกเราเรียกว่า แขกท้องผ่าง หมายถึงคนที่มีท้องใหญ่มาก พอ ๆ กับคนท้อง 9 เดือน ประมาณนั้น ครับ   
 
นี่คือประวัติความเป็นมาเพียงบางส่วน ของ บ้านสี่แยกสมเด็จ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ คำที่เรียกคนบางกลุ่มว่า เจ๊ก แกว มิใช่คำหยาบคาย หรือดูถูกกันนะครับ เพราะสมัยก่อน การเรียกชื่อตามประสาชาวบ้านจะเรียกชื่อกันตามเชื้อชาติ ถ้าคนนั้นเป็นคนจีน ก็จะนำหน้าชื่อว่า เจ๊ก..ส่วนผู้ที่มีเชื้อสายเวียดนาม  ก็นำหน้าชื่อว่า แกว.... แล้วตามด้วยชื่อ จริง หรือ ชื่อเล่นก็สุดแล้วแต่ ดังนั้นเมื่อลูกหลาน มาอ่านพบเข้าแล้วอาจจะไม่เข้าใจ ผมต้องขออภัยไว้นะที่ด้วย เพราะผมเขียนตามความทรงจำ ของผมที่อยู่ในช่วงวัยเด็ก ประมาณชั้น ป.4-ม.ศ.3 ซึ่งเป็นความทรงจำที่อยู่ระหว่างปี พ.ศ.2512-2518 
 
888888888888888888888888


คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com