www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2528 คน
52315 คน
1744759 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13


สรรพสิริ วิรยศิริ …แบบอย่างของนักข่าว
ที่มา : นิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539


“ผมเป็นคนข่าวหรือสื่อมวลชน ซึ่งจะมีลางสังหรณ์อย่างหนึ่งอยู่ในใจเหมือนเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่รู้ว่าพายุกำลังจะมา อากาศกำลังแปรปรวน การที่มีสัญชาตญาณล่วงหน้ามีส่วนดี คือ ทำให้สัตว์สามารถหลบหนีเข้ารังได้ทัน สัตว์ทั้งหลายย่อมมีความเห็นแก่ตัว แต่เราเป็นคน ไม่ใช่สัตว์ จะทำเฉย ๆ ไม่ได้ ต้องเห็นแก่ส่วนรวม เพราะในส่วนรวมมีตัวเราอยู่ด้วย แต่ส่วนตัวมีเพียงเราคนเดียว”
 
จากความคิดข้างต้น สรรพสิริ วิรยศิริ  จึงตัดสินใจเสนอภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และและท้องสนามหลวง ตามบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่ดี เป็นผลให้เขาถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และวิทยุ ททท. ตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา
 
ในวันนี้สรรพสิริ วิรยศิริ ชายวัย 76 ปี ผู้คว่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมานาน 35 ปีเต็ม ย้อนอดีตวันสุดท้ายของการเป็นคนทำข่าวในเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนให้ฟังว่า
 
“ก่อนถึงวันที่ 6 ตุลา ผมพอรู้แล้วว่าจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น เพราะผมติดตามข่าวการนำจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร มาซุกซ่อนไว้ในประเทศมาโดยตลอด ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันที่อุ้มผาง ผมขับรถยนต์ขึ้นไปทำข่าวที่นั่น พอวันที่ 5 ตุลา เห็นว่าเหตุการณ์ท่าจะไม่ดี จึงรีบกลับมากลางดึกคืนนั้น ก็ตั้งรถเสนอข่าวเลย   ผมสังเกตเห็นเหตุการณ์มีทีท่าจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ และคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ จึงโดดลงไปเล่นเอง เพราะต้องการเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากข่าวคือหัวใจและศักดิ์ศรีของสื่อสารมวลชน
 
“คืนวันที่ 5 ตุลา ผมวางแผนทำข่าว ดึงช่างภาพทั้งมือเก่าและใหม่มา ส่วนตัวผมก็เข้ามาเล่นด้วย พอเช้าวันที่ 6 ตุลา รถบัญชาการของ “ข่าวล่ามาเร็ว” กับ “ข่าวล่ามาทันที” ก็มาจอดอยู่ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมสั่งให้ทีวีช่อง 9 เปิดเครื่องส่ง ตอนนั้นมีผมคนเดียวที่สั่งการได้
 
“พอตอนสายเสียงปืนเริ่มดังมากขึ้น ความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น พอสายอีกหน่อยก็เริ่มมีการลากศพออกมา มีเชือกผูกที่คอ ลากไปฝั่งโน้น เราอยู่นอกรั้วเข้าไปไม่ได้ การรายงานข่าวของผมต้องการเปิดเผยให้ประชาชนรู้เท่าที่จะรู้ได้ เป็นสิทธิของประชาชน คนที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกคนมีสิทธิในการรู้เห็นเท่ากัน แต่รู้แล้วจะเกิดความรู้สึกอย่างไรเป็นเรื่องของเขา
 
“หลังจากสั่งให้เปิดสถานีโทรทัศน์รอไว้ ผมก็มานั่งนึก เราทำเพื่ออะไร หนึ่งมันมาจากจิตสำนึก เรามีความรู้สึกเข้าใจนักศึกษาที่อยู่ตรงนั้น สอง เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เหมือนคนทะเลาะกัน คนหนึ่งตัวใหญ่มีกระบองอยู่ในมือ อีกคนหนึ่งตัวเล็กนิดเดียว มือเปล่า มันจะสู้รบกับคนที่ถือกระบองได้อย่างไร ไอ้คนที่ถือกระบองก็หวดเด็ก กระทืบซ้ำ ด่าบ้าง เด็กก็ร้อง แต่ผู้ใหญ่กลับร้องดังกว่าทั้งที่ผู้ใหญ่ถือกระบองในมือ ผมเห็นคนถูกล้อมอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นก็คิดว่ามันจะดำดินไปไหนได้ ในธรรมศาสตร์ไม่มีอุโมงค์ให้มุดลอดไปได้เหมือนที่ลือกันหรอก”
 
สรรพสิริมีประสบการณ์การทำข่าวสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง เขาจึงถ่ายภาพเหตุการณ์ความรุนแรงตรงหน้าได้อย่างเชี่ยวชาญ ภาพความทารุณต่าง ๆ ถูกบันทึกไว้ในกล้องโทรทัศน์ทั้งหมด แต่เมื่อเขานำออกอากาศ เขากลับไม่สามารถนำเสนอได้ทุกตอนของเทปที่บันทึกไว้
 
“ตอนถ่ายภาพไม่ทันได้นึกอะไร มีกล้องก็ถ่ายไว้ก่อน แต่เมื่อเอาหนังมาล้าง มาตัดต่อ ก็เกิดความสงสัยขึ้นในใจ เหตุใดเขาจึงต้องเอากองกำลังเข้าไปยิง ลากศพ เอาเชือกผูก ผมไม่เข้าใจ ทำไมต้องเอาศพมาเผา ผมเห็นว่าภาพพวกนี้ปล่อยออกไปทั้งหมดไม่ได้ คนที่เห็น คนที่บรรยายจะมีความรู้สึกอย่างไร ผมเลยบอกว่า ข่าวนี้คนอื่นห้ามแตะ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ผมจึงลงมือล้างฟิล์ม ตัดต่อ และบรรยายเอง
 
“ผมมาหมุนหนังดู ภาพที่มีเชือกผูกคอ นั่งยางเผาไฟ ผมตัวออกหมด มีแต่ภาพยิงปืนและทหารวิ่ง แล้วก็บรรยายว่าเกิดความไม่เข้าใจกัน เหตุผลที่ตัดภาพเหล่านี้ออก ก็เหมือนกับเรารายงานข่าวว่าเด็กอายุ 5 ขวบถูกฆ่าข่มขืน เราไม่อาจเสนอภาพได้ว่าเด็กถูกจับแก้ผ้าอย่างไร บรรยายได้ว่ามีการทารุณศพ เราพูดได้ สองเหตุการณ์นี้คือเด็กถูกฆ่าข่มขืนกับกรณีนักศึกษาถูกลากคอ ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะเสนอภาพนั้น ผมรู้สึกว่ามันขยะแขยงและน่าอายที่จะเสนอภาพนั้นออกไป ไม่ใช่เราบิดเบือนนะ แต่มันอายมากกว่า เมื่อมาเทียบกับความรุนแรงของสังคมไทย มันเลวเกินไป เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปออกความเห็นว่าใครยิง ยิงเพื่ออะไร ผมเป็นนักข่าวประเภทที่เห็นอย่างไรก็ว่าไปตามตรง จะไม่มีการใส่อารมณ์ว่าคนนี้เหี้ยมโหด คนอย่างผมไม่มีทางทำ
 
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างหนึ่งมาจากความเคียดแค้นชิงชังว่าฝ่ายนี้เป็นศัตรูของบ้านเมือง มันทำให้เกิดความเดือดร้อน อีกอย่างหนึ่งอาจเกิดจากอารมณ์ชั่วแล่น
 
“สื่อมวลชนมีหน้าที่สื่อให้เข้าใจ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำความรุนแรงไปเผยแพร่ วันที่ 6 ตุลา พอข่าวออกไป ประชาชนก็รู้แล้วว่ามีการปะทะกันระหว่างสองฝ่าย มีความรุนแรงเกิดขึ้น หน้าที่ของเราคือเป็นสื่อ ไม่ใช่ชี้ความถูกต้อง ชี้ความบริสุทธิ์ของคน เพียงสื่อให้เขาได้ใช้วิจารณญาณเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว อย่าไปสื่อเพื่อความสะใจของตัวเอง กรณีหนังสือพิมพ์ดาวสยามในขณะนั้นไม่มีหน้าที่ไปตัดสินความบริสุทธิ์ของใคร มันไม่มีมูลความจริงแม้แต่นิดเดียว ไม่รู้เอามาจากไหน เขาไม่ได้ทำหน้าที่สื่อ เขาทำหน้าที่เพื่อความสะใจ”
 
สรรพสิริ แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นทำให้สื่อมวลชนมีความลำบากที่จะวางตัวเป็นกลาง
 
“สังคมในเวลานั้นเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่แหลมคม เป็นสังคมที่มีจุดหนึ่งที่จะสามารถพิพากษาใครให้อยู่ในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ง่าย และคิดว่าคนอื่นที่ไม่ได้ทำอย่างตัวเองต้องไม่ใช่พวกของตัวเองไปหมด เมื่อเกิด 6 ตุลา ซึ่งมีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือนักศึกษาซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะโอนเอนไปทางโน้นหรือเปล่า แต่อีกฝ่ายเขาเอียงมาทางขวา สื่อมวลชนอยู่ตรงกลางก็มีหน้าที่รายงานข่าวตามความเป็นจริง ให้คนรู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่สนามหลวง ไม่ได้ตัดสินใจว่าใครถูกใครผิด
 
“สื่อควรเสนอความเป็นจริง ไม่ใช่ความเป็นกลาง เพราะความเป็นกลางอยู่ที่ว่าใครเป็นคนตัดสิน และขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนซึ่งอาจเอนเอียงไปบ้าง แต่ความจริงอย่างไรก็คือความจริง”
 
สรรพสิริพิจารณาเหตุการณ์ที่ได้รู้เห็นด้วยตนเองและจากคำบอกเล่าของทีมงานที่เข้าไปทำข่าว จึงพบว่าสื่อมวลชนหลายสื่อไม่เสนอข่าวตามความเป็นจริง
 
“นักศึกษาไม่มีอาวุธเลย ไม่มีบังเกอร์อย่างที่มีการกล่าวหากัน มีแค่โต๊ะปิงปองเท่านั้น แต่วิทยุยานเกราะบอกว่าโต๊ะปิงปอง คือ บังเกอร์ มันก็ตลก บังเกอร์ในความหมายของเรา คือ กระสอบทรายมาพูนให้เป็นบังเกอร์ …ไอ้นี่เป็นเรื่องความขัดแย้ง ผมไม่ถือ เพราะเขาต้องการจะเอาอะไร ก็ต้องให้ได้ดังใจเขา”
 
หลังจากเผยแพร่ภาพข่าวออกไป สรรพสิริเริ่มทำใจได้แล้วว่า เขาและทีมงานคงหลีกเลี่ยงผลสะเทือนจากการปฏิบัติงานครั้งนี้ไปไม่ได้
 
“พอเหตุการณ์ทุเลา ผมก็นั่งกินเหล้ากับทีมงาน แล้วก็บอกว่าพวกเราเตรียมใจ รู้ตัวดี หลังจากคณะปฏิรูปฯ เข้ายึดอำนาจตอนเย็น ตกค่ำก็มีคำสั่งปลดผมออกจากทุกตำแหน่งในสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และวิทยุ ทททลูกน้องผมบางคนไม่รู้อะไรด้วยก็ถูกไล่ออกเหมือนกัน ถูกไล่ออกสี่ห้าคน ผมว่าเขาทำเกินเหตุ”
 
ในที่สุดสรรพสิริได้รับความเดือดร้อนใหญ่หลวง นับตั้งแต่ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกคณะปฏิรูปฯ สั่งอายัดทรัพย์สินทั้งครอบครัว เขาต้องนำปืนทุกกระบอกที่สะสมด้วยใจรักออกขายเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่ เขาผิดหวังกับชีวิตจนเกือบตัดสินใจฆ่าตัวตาย เดชะบุญที่จู่ ๆ วันหนึ่งอาจารย์จุมพล รอดคำดี ก็โทรศัพท์มาชวนให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านวิทยุโทรทัศน์ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหตุการณ์นี้ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังมีค่าต่อสังคมอยู่
 
“อาจารย์จุมพลคงไม่นึกว่าคำชวนของเขาจะทำให้ผมฟื้นขึ้นมาได้ ผมเลิกคิดฆ่าตัวตายนับตั้งแต่บัดนั้น เพราะคนตายแล้วจะไปเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างไร หลังจากนั้นผมก็ตั้งปณิธานว่า ต่อแต่นี้ไปชีวิตที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะยืนยาวหรือสั้นแค่ไหน ผมต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า เหตุร้ายที่ผมเผชิญมาตลอดนั้น บางเรื่องผมอาจเป็นคนพลาด แต่มิได้เป็นคนผิดแน่นอน  ผมยอมเป็นคนโง่ แต่จะไม่ยอมเป็นคนเลวไปชั่วชีวิต”
 
หลังจากที่ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษแล้ว สรรพสิริยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ช่อง 7 และได้รับปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นรางวัลชีวิตที่ได้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาตลอด 35 ปี
 
“ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมจะไม่มีวันนี้ ผมอาจนั่งเลี้ยงหลานหรือตรอมใจตายไปแล้วหลังปลดเกษียณ เมื่อคิดทบทวนแล้ว ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ส่งผลในด้านดีแก่ชีวิตผมมากกว่าด้านเสีย หากเราสามารถพลิกผันความเจ็บปวดมาเป็นความชื่นชมและภูมิใจ และพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม”
 
 
888888888888888888

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com