www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 7 คน
 สถิติเมื่อวาน 28 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
3385 คน
49199 คน
1741643 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 

ระวัติ อำเภอตะกั่วป่า ตอน 3
ข้อมูล ปี 2509 นายกระจ่าง ศิรินทรนนท์ เป็นนายอำเภอตะกั่วป่า
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ รวบรวม
โบราณวัตถุและโบราณสถานสำคัญ

สิ่งสำคัญประจำเมืองตะกั่วป่ามีอยู่ 3 อย่าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้


1.เทวรูป 3 องค์ และศิลาจารึก
เทวรูป 3 องค์นี้ ชาวเมืองเคารพนับถือเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ แกะสลักด้วยหินชิสต์ องค์กลางมี 4 กร ชาวเมืองเรียกว่าพระนารายณ์ องค์ซ้ายเป็นเพศชาย ชาวเมืองเรียกว่า พระลักษณ์ องค์ขวาเป็นเพศหญิง ชาวเมืองเรียกว่า นางสีดา มีขนาดย่อมกว่าคนธรรมสักสักเล็กน้อยทั้ง 3 องค์เดิมประดิษฐานอยู่บนเขาพระนารายณ์ ฝ่ายทิศตะวันออกของเวียง เมื่อ พ.ศ. 2328 พม่ายกทัพเรือมาตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง สมัยท้าวเทพสตรี กับท้าวศรีสุนทร วีรสตรี ทางตะกั่วป่าได้อพยพครอบครัวและผู้คนพลเมืองลี้ภัยเข้าอาศัยตำบลหลังพม่า (เดี๋ยวนี้เป็นตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง) เมื่อตอนพม่าไม่สามารถไล่ตามและทั้งกลัวไทยโอบล้อมตีตลบและเมื่อถอนทัพกลับ ได้ลักพาเทวรูปและศิลาจารึกจากเขาพระนารายณ์ของเราใส่เรือไปด้วย แต่เกิดเหตุมหัศจรรย์เกิดลมพายุฝนฟ้าคะนอง กองทัพพม่าเกรงกลัวว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเหตุ จึงได้ขนเอาเทวรูปและศิลาจารึกขึ้นพิงต้นตะแบกไว้ที่ปากเวียงริมคลองหลังพม่าฝั่งขวา เมื่อคลื่นลมสงบจึงถอนทัพกลับพม่า

ส่วนศิลาจารึกนั้น ต่อมามีผู้เอามาไว้ที่วัดหน้าเมืองตะกั่วป่า จนที่สุดราษฎรได้ขออนุญาตต่อทางราชการเอาไปตั้งไว้ ณ ที่แห่งเดียวกับพระนารายณ์ตามเดิม และศิลาจารึกนั้น เมื่อ พ.ศ.2445 มิสเตอร์ เบอรก ที่ปรึกษากรมราชโลหกิจ กระทรวงเกษตราธิการ ได้ไปพบแล้วแจ้งความถึง พระสารศาส์นพลขันธ์ (เยรินี Gerini) ซึ่งกำลังลงพิมพ์โบราณคดีของประเทศไทยในจดหมายเหตุของ สโมรา รอยแยล เอเชียติค กรุงลอนดอน (พ.ศ.2447) และในจดหมายเหตุของสยามสมาคม เมื่อ พ.ศ.2448 ศิลาจารึกนี้จึงได้เลื่องลือถึงนานาประเทศ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดอ่านข้อความในศิลาจารึกได้ ศิลาจารึกแผ่นนี้มีขนาดยาวประมาณ 230 ซม. กว้าง 50 ซม. มีจารึกเป็นตัวอักษรด้านเดียว 6 บรรทัด ภายหลังศาสดาจารย์ฮูลช์ เมืองฮันเล ประเทศเยอรมันเป็นคนแรกที่อ่านได้ ได้ความว่าเป็นภาษาทมิฬ ต่อมายังได้แปลเป็นภาษาอังกฤษลงพิมพ์ในจดหมายเหตุ ของ สโมรา รอยแยล เอเชียติค กรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2456 แปลเป็นภาษาไทยความว่า "สระชื่อ ศรีอวนิมารนัมซึ่ง...........รวรรมันคุณ...........ได้ขุดเองใกล้(เมือง)นงขครู อยู่ในการรักษาของสมาชิกนิกรามและกองทัพพระวังหน้ากับชาวไร่ชาวนา.........."

ศาสดาจารย์ฮูลช์ สันนิษฐานว่า คำว่า นงครู เป็นที่พวกทมิฬ ตั้งอยู่ใกล้เมืองตะกั่วป่า ทุกวันนี้ แต่โดยที่ตำบลนงครู หรือตำบลที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน และสระที่ขุดครั้งโบราณไม่มีในเขตตะกั่วป่า จึงเข้าใจกันว่า นงครู คงเป็นเมืองนครศรีธรรมราช ภายหลังได้โอนอาณาเขตบริเวณสระนี้ไปขึ้นอยู่ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สระนี้ผู้เขียน สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเวียงสระเมืองเก่าริมแม่น้ำตาปี ไม่ห่างจากสถานีบ้านสร้อง เท่าใดนัก เพราะเส้นทางที่พวกทมิฬเดินทางจากตะกั่วป่า ไปยัง นครศรีธรรมราช พวกนี้จะตั้งพระนารายณ์ไว้เป็นระยะ เพื่อพวกข้างหลังจะได้เดินติดตาม และตามหลักฐานพระนารายณ์ได้วางไว้ คือ ทุ่งตึก ปากน้ำตะกั่วป่า เขาพระนารายณ์ที่ปากเวียงตะกั่วป่า เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน และเวียงสระริมแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ) สระนี้เป็นสระใหญ่มาแต่โบราณ เข้าใจว่าพวกทมิฬ ที่เป็นกองทัพ ระวังหน้าได้ไปขุดสระไว้ที่นั้น ส่วนพวกที่อยู่หลังในเมืองตะกั่วป่า คงเป็นพวกช่างคิดอยู่บ้าง การแกะสลักศิลาจารึกและเทวรูปต่าง ๆ ก็เป็นหน้าที่ของพวกนี้ทำ แต่ยากที่จะสันนิษฐานได้ว่า เป็นด้วยเหตุใด ศิลาจารึกรี้ยังตกอยู่ที่ตะกั่วป่า หาได้นำไปที่สระซึ่งขุดนั้นไม่ ที่พระนารายณ์ก็ดี ที่ทุ่งตึกก็ดี ยังมีศิลาที่สลักเป็นเทวรูปแต่ยังไม่เสร็จ ตกค้างอยู่อีกบ้าง (ข้อสงสัยอันนี้น่าจะยุติลงได้ เพราะนายช่างแกะสลักด้วยหินชิสตร์ รวมทั้งศิลาจารึกล้วนเป็นหินชนิดเดียวกัน ซึ่งทำได้ง่ายตามชายทะเลทุ่งตึก เมื่อขุดสระใหญ่ไว้ที่เวียง สระเมืองเก่าแน่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้นำศิลาจารึกไปไว้ที่เวียงสระเท่านั้น)

ต่อมาเมื่อพ.ศ.2509 สิ่งอันสลดใจของเมืองตะกั่วป่าก็เกิดขึ้น กล่าวคือ ในการตัดทางและก่อสร้างถนนหลวงสายสุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า ผ่านมาทางบริเวณที่ประดิษฐานพระนารายณ์นั้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2509 ได้มีคนร้ายมาลักสกัดเอาใบหน้าพระนารายณ์ ไป เจ้าหน้าที่ทางอำเภอกะปงไม่สามารถดมมือผู้ร้ายได้ ประชาชนชาวตะกั่วป่า ต่างได้รับความเสียใจและแสดงออกซึ่งความเคียดแค้นเป็นอันมาก เพราะชาวเมือง นับถือเป็นโบราณวัตถุ คู่บ้านคู่เมือง ทั้งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาไม่น้อยกว่า 1,300 ปี จนเกิดเป็นสัญลักษณ์ ทางราชการได้ใช้เป็นตราเครื่องหมายของเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จนถึงทุกวันนี้ ต่อจากนั้นทางราชการก็ได้นำเอาเทวรูปทั้งหมดและศิลาจารึกไปเก็บรักษาไว้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายนิรัชน์ บุญสูง สมาชิกสภาจังหวัดและนายกเทศมนตรีเมืองตะกั่วป่า ได้ยื่นกะทู้ ลงวันที่ 16 กันยายน 2509 ถามสภาจังหวัดพังงา ซึ่งเปิดประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2509 เพื่อให้ทางการนำเทวรูปมาไว้ทางตะกั่วป่า ตามเดิมเพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ประชาชน และก็เป็นที่น่ายินดีไว้ก่อน ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาตกลงจะจัดการนำมาให้ แต่ขอให้อำเภอตะกั่วป่ากับเทศบาลเมืองตะกั่วป่าเป็นผู้รักษา และให้จัดสถานที่อันควรให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้ว จังหวัดจะเป็นผู้อัญเชิญมาให้ภายหลัง

2.พระนารายณ์ อีกองค์หนึ่ง อยู่บนเขาเล็ก ๆ ที่คลองพระเสนอ ตำบลบางม่วง อำเภอตลาดใหญ่ (อำเภอตะกั่วป่า เดี๋ยวนี้) ชาวบ้านเรียกว่า พระเสนอ ทางราชการได้นำเอาไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงเทพ ฯ นานแล้ว

3.สถานโบราณวัตถุอีกแห่งหนึ่งที่นับว่าสำคัญมากในประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ระหว่างปลายคลองเหมืองทองกับปลายคลองทุ่งตึก ทางท้ายเกาะบนเกาะคอเขา ตำบลเกาะคอเขา กิ่งอำเภอเกาะคอเขา พื้นที่เป็นลานทราย ต้นไม้ขึ้นห่าง ๆ บางแห่งก็เป็นป่าละเมาะ มีเศษกระเบื้องจีนแห่งคริสศตวรรษที่ 3-8 และเศษกระเบื้องเปอร์เซีย ลูกปัดสีเขียวเหลืองและเศษอิฐมากมายที่ ดร.ควอริตช เวลส์ มาสำรวจเมื่อ พ.ศ.2478 สันนิษฐานว่ามีวิหาร 3 แห่ง ดังกล่าวมาแล้วนั้น เข้าใจว่ายังจะมีอะไรที่สำคัญเกี่ยวแก่ประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยู่อีกมาก แต่ทางการยังไม่เคยลงมือสำรวจตรวจค้นให้เป็นกิจจะลักษณะ จึงได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน



คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com