ประวัติ อำเภอตะกั่วป่า ตอน 4 ข้อมูล ปี 2509 นายกระจ่าง ศิรินทรนนท์ เป็นนายอำเภอตะกั่วป่า ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ รวบรวม
เกาะสำคัญ อีกอย่างหนึ่งที่จะงดกล่าวเสียมิได้ มีหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียอยู่ 3-4 เกาะ เป็นเกาะเล็ก ๆ เกาะใหญ่ ชื่อจาน (ฝรั่งเขียน Chance ) อยู่ตรงกับเกาะระที่ตั้งประภาคารให้แสงไฟแก่ชาวเรือ อยู่ห่างจากแห่งดินใหญ่โขอยู่ หมู่เกาะนี้มีคำพูดติดมาแต่โบราณว่า "หัวจดหลาง หางจดฤทธิ์" คือเกาะแรก อาจนับแต่เกาะรายา หน้าเมืองภูเก็ตหรือถลาง และหางยาวเรียงรายจนจดเมืองมะริตในประเทศพม่า หรือหมู่เกาะแอนดามัน (Andaman) หรือเกาะย่านเชือก หรือชาวเกาะเรียกว่า เมืองเกาะ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และการเมือง เมื่อคราวอังกฤษยังปกครองพม่าอยู่ยิ่งสำคัญมาก สมัยพระยาสุรินทราชา สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้เอาธงไปปักไว้และตั้งเป็นหมู่ที่ 5 ขึ้นอยู่กับตำบลเกาะพรทอง กิ่งอำเภอเกาะคอเขา เกาะนี้ปกติไม่มีคนเข้าอยู่อาศัย เว้นแต่ฤดูแล้งชาวเมืองออกเก็บหาไข่เต่า อำพัน พวกปลิงทะเล หอยมุก และจับปลาเป็นการชั่วคราว น้ำจืดมีเล็กน้อยตามซอกหิน ครั้งใกล้ฤดูฝนต่างก็รีบกลับเข้าฝั่ง เพราะอยู่กลางมหาสมุทรคลื่นลงและพายุจัดฤดูฝนไปมากันไม่ได้ เมื่อสมัยสงครามมหาบูรพาเอเชีย พ.ศ. 2484 - 2489 เสรีไทยกับพันธมิตรนำเรือใต้น้ำและนำอาวุธยุทธภัณฑ์มาขึ้นที่เกาะนี้ เพื่อแจกจ่ายทางจังหวัดแถบทะเลตะวันตก เพื่อเตรียมรับมหามิตรที่คิดหักหลังทำการไม่สัตย์ซื่อต่อเรา จึงจารึกไว้เพื่อผู้ปกครองท้องที่จะได้ระมัดระวังและจะได้ไม่ลืมความสำคัญของเกาะนี้
อั้งยี่ตะกั่วป่า เหตุการณ์สำคัญนอกจากศึกพม่าแล้วยังมีเรื่องวุ่นจีนซึ่งควรบันทึกไว้ คือ สมัยเจ้าคุณเฒ่า พระยาเสนานุชิต (นุช) ตะกั่วป่ามีพวกอั้งยี่ 3 พวก 1.พวกโฮ่เส้ง มีเถ้าแก่สู่กุ้น เป็นหัวหน้า 2.พวกเกี้ยนเต็ก มีเถ้าแก่ล่อโส่ย หรือลู่โส่ย เป็นหัวหน้า 3.พวกงี่หิ้น หรือหงี่เห้ง เถ้าแก่ลิ่มบุ่นเต็ก เป็นหัวหน้า แต่ละพวกมีการปกครองดูแลสารทุกข์สุขดิบ เกื้อกูลแก่คณะพรรคของตน เรียกว่า เป็นการเรียบร้อยดี อยู่จนถึงกับสมัยนั้นจีนใหม่เข้ามาในเมืองตะกั่วป่า ใครจะสมัครเข้าพวกไหน ก็ไปรายงานตัวกับเจ้าเมือง แล้วก็เข้าพวกตามความประสงค์ นอกจากนั้นแม้แต่คนไทยก็เข้าเป็นสมัครพรรคพวกกับเขา เกือบทั่วไปเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์บังคับอยู่แขวนหัวโดดเดี่ยวไม่ได้ สมัยนั้นกำลังป้องกันรักษาบ้านเมืองยังมีน้อย การที่ยอมให้เขามีสมาคมจีนจนเรียกว่าเปิดเผย เท่ากับให้เขาเหล่านั้นได้ปกครองกันเอง ก็นับว่าเป็นกุศโลบายปกครองอันแยบคายอันหนึ่งมีเรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆไม่ค่อยถึงโรงถึงศาล แต่อย่างไรก็ดีในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องย่อมเกิดการแข่งขันชิงดีชิงเด่นชิงไหวชิงพริบ แก่งแย่งกนและกันเมื่อเป็นเช่นนั้นประโยชน์ขัดกันก็ย่อมเกิดขึ้น จนเกิดทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงทำร้ายซึ่งกันและกัน ผลสุดท้ายก็กลายเป็นศึกใหญ่เกิดรบพุ่งกันระหว่างพวกโฮ่เส่ง กับพวกงี่หิน หรือ หงี่เห้ง การรบกันคราวนั้น ไม่ปรากฏว่ารบกันกี่วัน แต่คนเฒ่าคนแก่เล่ากันมาว่า การรบนั้นไม่มีการทำร้ายคนไทย เด็ก และ ผู้หญิง คงมุ่งฆ่าฟันกันระหว่างผู้เป็นศัตรูทั่วทุกตำบลและหมู่บ้านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ ผู้คนแตกตื่นไม่ได้ทำมาหากิน เจ้าคุณเฒ่าถือดาบระวังเหตุยืนขวางกำแพงเมือง ผู้ลี้ภัยเด็กและผู้หญิง คนแก่ คนเฒ่า หรือคู่ต่อสู้อพยพ ลอดใต้อ้อมแขนเจ้าคุณเฒ่าเข้าภายในกำแพงเมือง
เถ้าแก่สู่กุ้น หัวหน้าพวกโฮ่เส่ง ก็แล่นเข้าค่ายหนีภัย การต่อสู้กันครั้งนั้นคงมุ่งแต่ทำร้ายชีวิตซึ่งกันและกันมิได้จุดไฟเผาตลาดหรือเผาบ้านเรือนแต่ประการใด การณ์นั้น เมื่อฝ่ายพวกโฮ่เส่งสู้ไม่ได้ก็ได้ซ่อนเร้นหนีภัยไม่ต่อสู้ ศึกเป็นอันยุติลงเอง จดหมายเหตุครั้งนั้นก็มีแต่บทเพลงซึ่งคนสมัยนั้นผูกขึ้นร้องกันมาว่า "ปีมะเส็งเดือนสี่ เจริญศก เถ้าแก่บุนต๊กคิดอ่านทำงานใหญ่ เถ้าแก่สู่กุ้นวุ่นไขว่ ดับห่อพายุใหญ่แล่นเข้าค่าย" ตามหนังสือโบราณคดีอันเป็นนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องหลวงพ่อวัดฉลองปราบอั้งยี่ที่จังหวัดภูเก็ตปรากฏว่าตรงกับปีชวด พ.ศ.2419 วุ่นจีนตะกั่วป่าอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบศักราชก็คือ เดือนสี่ ปีมะเส็ง พ.ศ.2424 คือวุ่นจีนที่ภูเก็ตก่อนตะกั่วป่า 5 ปี ต่อมาภายหลัง เมื่อได้ประกาศพระราชบัญญัติปกครองท้องที่และได้ตั้งตำรวจภูธรขึ้นแล้วการปกครองท้องที่ก็ค่อยรัดกุมขึ้น พวกอั้งยี่ก็เงียบไม่เปิดเผยก็กลายเป็นสมาคมลับ และคงเหลืออยู่เพียง 2 พวก คือ งี่หิ้น หรือ 120 หรือพวกแดง และพวกเกี้ยนเต็ก หรือ 48 หรือพวกขาว ทั้งสองนี้ปกติก็มีเรื่องเคียดแค้นบาดหมางลักทำร้ายซึ่งกันและกัน จนเกือบจะเป็นศึกใหญ่ก็หลายครั้งหลายหน หลังสุดท้ายราว พ.ศ.2460 พล.ท.พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้เรียกตัวหัวหน้าและคนสำคัญของทั้งสองพรรคมาชี้แจงห้ามปรามแต่โดยดี สมาคมอั้งยี่ก็ถึงกาลแก่อวสาน |