ชีวิตนักข่าว...เมืองเก่าสงขลา บริเวณหัวเขาแดง
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
19 กุมภาพันธ์ 2553
ผมต้องบอกท่านว่าเมืองสงขลา เป็นเมืองเก่ามาแต่โบราณ ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมจะได้เล่าให้ท่านฟังโดยผ่านการถ่ายทอดจาก พระมหากระจาย รวิวณฺโณ (ระวิวรรโณ) เจ้าอาวาสวัดเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
บ่ายวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ผมมีโอกาสได้พบกับ พระมหากระจาย เจ้าอาวาสวัดเขาน้อย อ.สทิงพระ จ.สงขลา และผมก็ได้รับการต้อนรับจากท่านเป็นอย่างดี และพระมหากระจายก็ได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ผมฟัง ถึงความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ และการเข้ามาของชาวมุสลิม อย่างละเอียดว่า
กรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรส และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทำให้ชาวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาค้าขาย ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เป็นจำนวนมาก อาทิ ชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย หรือชาวอิหร่าน ในปัจจุบัน โดยชาวมุสลิม จากเปอร์เซีย ที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา มี 2 สาย คือ สายที่หนึ่ง คือ เชคอะหมัด พร้อมน้องชาย เดินทางเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ยุคกลาง และได้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา โดยการตั้งห้างร้าน ทำมาค้าขายจนรุ่งเรืองร่ำรวย ทำให้ เชคอะหมัด เป็นที่รู้จักในกรุงศรีอยุธยา และได้รับพระราชทาน ทินนาม ใหม่ ซึ่งเป็นต้น ตระกูลบุนนาค ที่พวกเรารู้จัก มาจนถึงทุกวันนี้
สายที่ สอง เป็นชาวเปอร์เซียที่ตั้งรกรากในเกาะชวา ณ เมืองกุมคุ้ม หรือ อินโดนีเซีย ในปัจจุบัน ที่ทนต่อการรุกรานของโปรตุเกสไม่ไหว และในระหว่างปี พ.ศ. 2148 ดาโต๊ะ โมกอลล์ จึงได้นำชาวมุสลิมอพยพ ขึ้นทางเหนือมาอาศัยที่ เมืองสทิงปุระ หรือ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ในปัจจุบัน ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โคกม่วง เพราะบริเวณนี้มีภูมิประเทศ และทำเลในการป้องกันจากศัตรู ได้ดีกว่า อีกทั้งศัตรูยังบุกเข้ามายากลำบาก เพราะมีทะเลสาบสงขลา ล้อมรอบ และดาโต๊ะ โกมอลล์ ได้สถาปนาครองเมือง สิงขรา หรือ เมือง ซิงโกลา โดยขึ้นตรงกับ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นโท และอยู่ภายใต้อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
พระมหากระจาย ได้เล่าต่อไปว่า การอพยพมาอยู่สิงขรา ของดาโต๊ะ โกมอลล์ จึงเป็นบุคคลแรกที่นำเอาศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ เข้ามาในดินแดนแถบนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มี ศาสนาพุทธ ได้เข้ามาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อดาโต๊ะ โมกอลล์ ถึงแก่อนิจกรรม จึงได้สถาปนาลูกชายชื่อ สุลต่านสุไลมาน ปกครองเมืองสิงขรา ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2211 ซึ่งสุลต่านสุไลมา มีความพยายามที่จะแข็งเมือง และจะไม่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าปราสาททอง ได้ยกทหารมาตีหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ เพราะพ่ายแพ้ต่อภูมิประเทศ ที่ทะเลมีคลื่นลมแรง ทำให้เรือรบเกิดอับปาง บางครั้งอากาศก็ร้อนจัด ทำให้ทหารขาดน้ำเสบียงอาหาร ต่อมา สุลต่านสุไลมาน ถึงแก่อนิจกรรม ลูกชายชื่อ สุลต่าน มุสตาฟาร์ จึงได้ขึ้นครองแทนบิดา ราว พ.ศ. 2211-2223 ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อสิ้นสมัยของ สุลต่าน มุสตาฟาร์ เมืองสงขลาในแถบนี้จึงสิ้นสุดความเป็นเมือง และเกิดเมืองสงขลาใหม่ขึ้นมาที่ บริเวณแหลมสน หรือที่บริเวณวัดสุวรรณคีรี วัดบ่อทรัพย์ และเมืองสงขลาที่บ่อยาง สืบมาจนถึงทุกวันนี้
นี่ก็เป็นอันสิ้นสุด ของยุคสุลต่านที่ได้ครองเมืองสงขลาในอดีต พระมหากระจาย ได้เล่าให้ฟังอีกว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ทรงคิดหนัก และพยายามที่จะหาทางออกเพื่อไม่ให้ ฮอลลันดา และ อินเดีย เข้ามาผูกขาดทางการค้าในกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงได้ไปเชื่อมความสัมพันธ์กับ ฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สมเด็จพระนารายณ์ ทรงโปรดทูตของฝรั่งเศสมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ส่งทูตไปและแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศส หลายครั้ง และยังให้ทูต ไปเยือนเขมร และญวน เพื่อหาทางทางถ่วงดุล นอกจากนั้น สมเด็จพระนารายณ์ ยังให้สิทธิพิเศษ แก่ ฝรั่งเศส ในเกาะภูเก็ต ส่งผลให้เหล่าขุนนางไม่พอใจ และไม่เห็นด้วย คิดที่จะโค่นล้ม และเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ทรงทราบจึงได้ลดบทบาทประเทศที่เข้ามาค้าขายให้น้อยลง จนในที่สุด จึงไม่มีประเทศใดมีความสำคัญ ต่อมา โปตุเกตุ อยากได้เมืองสงขลา จึงมีการยกทัพมาตี และมีการถอยร่น ลึกเข้าไป จึงกลายเป็นเมืองเจ้านคร และปัจจุบันเมืองนี้ ลดระดับมาเหลือแค่ บ้านเจ้านคร ในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน
ผมได้ใช้เวลาไม่มากนักที่ได้สนทนากับ พระมหากระจาย แต่ก็ได้รับความรู้ เกี่ยวกับประวัติเมืองเก่าสงขลาในแถบนี้ ทำให้เรารู้ถึงการเข้ามาของ ศาสนาอิสลาม ในดินแดนแถบนี้ และทำให้ทราบถึง การปกครองสงขลา ที่มีชาวอิสลาม เคยเป็นเจ้าเมือง ผมอยากจะสนทนาให้มากกว่านี้ แต่พระมหากระจาย ก็ไม่มีเวลาให้เพราะต้องไปประชุมร่วมกับ คณะครู ที่อยู่บริเวณนั้นเพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษา แก่ลูกหลานต่อไป เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ โอกาสหน้าถ้ามีเวลาผมจะไปสนทนากับท่านอีก ครับ
* * * * * * * * * * * * |