ประวัติวัดเขาน้อย
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
ที่มา:จุลสารเผยแพร่วัดเขาน้อย
ผมมีโอกาสได้เดินทางไปในหลายพื้นที่และมักจะแวะเวียน ไปนมัสการพระสงฆ์ ที่จำวัด และขณะเดียวกันก็ได้เข้าไปศึกษา วัดที่มีความเก่าแก่ น่าศึกษา เพื่อที่จะได้นำมาเป็นข้อมูลทางวิชาการให้แก่ผู้ที่สนใจ และในวันนี้ผม ได้ไปเยี่ยมวัดเขาน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และเป็นเก่าแก่ ที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยที่รุ่งเรือง ต่อไปนี้ผมขอนำเสนอประวัดวัดเขาน้อย โดยเนื้อหาของข้อมูลได้มาจากจุลสารของวัดเขาน้อย ดังนี้ครับ
วัดเขาน้อย: ตั้งอยู่ที่บ้านบนเมือง หมู่ 78 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 38 ไร่ 2 งาน 2ตารางวา ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ระหว่างสามแยกการท่าเรือน้ำลึกสงขลา กับสะพานติณสูลานนท์ เกาะยอ ทางด้านทิศใต้ ประมาณ 500 เมตร เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณยุคพุทธศาสนามหายานแห่งศรีวิชัย ต่อมาเมืองสงขลาได้ตั้งขึ้นที่เขาค่ายม่วง หรือที่เรียกว่า เมืองสงขลาหัวเขาแดง ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายที่เจริญขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง วัดเขาน้อยได้กลับกลายสภาพเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย เป็นเวลาช้านาน เพิ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (หลังจากเมืองสงขลาหัวเขาแดงหมดสภาพจากการเมือง) วัดเขาน้อย มีปูชนียสถานและปูชะนีวัตถุที่สำคัญคือ
เจดีย์วัดเขาน้อย: ตั้งอยู่บนยอดเขาน้อย เป็นเจดีย์ ไม่เจือปูน การเรียงอิฐเป็นแบบไม่มีระบบ อันเป็นแบบช่างสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 13 -18 ฐานเจดีย์เป็นรูปเหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง-ยาว ประมาณ 20 เมตร องค์เจดีย์ปรักหักพัง เหลือเพียงฐานซึ่งมีซุ้มประตูคูหาแบบรูปโค้งแหลม ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยอยุธยาอยู่ที่มุมทั้ง 4 ของฐาน จากการขุดแต่งบูรณะของสำนักงานศิลปากรที่ 13 สงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2529 ปรากฏว่าได้พบหลักฐานต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น หินแกะสลักเป็นลวดลาย และใบหน้าของบุคคล เป็นต้น ภาพแกะสลักเหล่านี้มีรูปแบบศิลปะ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-11) ของอินเดียแสดงว่าสถูปเจดีย์องค์นี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยทวารวดีและศรีวิชัย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-14 แล้วชิ้นส่วนของภาพแกะสลักเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ประกอบเป็นภาพประดับสถูปเจดีย์อีครั้งหนึ่งในคราวต่อเติมระยะหลังราวพุทธศตวรรษที่ 18-20 ซึ่งเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมสถูปเจดีย์องค์นี้อีกตามหลักฐานที่ปรากฏชวนให้เข้าใจได้ว่า เจดีย์วัดเขาน้อยองค์นี้ได้รับการบูรณะต่อเติมซับซ้อนกันมาหลายยุคหลายสมัยเป็นเวลานานหลายร้อยปีปัจจุบันยังเหลือไว้เพียงส่วนฐานเป็นพยานให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองแต่ในอดีต
ใบเสมาหินทรายแดง: ซึ่งนิยมกันมากในสมัยอยุธยา เป็นชิ้นส่วนของหลักพัทธสีมาอุโบสถวัดเขาน้อย ซึ่งเหลืออยู่ที่บริเวณอุโบสถหลังเก่าเพียง 2 ใบ ปัจจุบันได้เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสงขลา
พระพุทธรูปสำริด: ขุดพบที่เชิงเขาน้อย ตรงบริเวณกฏิอดีตเจ้าอาวาส (ถูกรื้อถอนออกหมดแล้ว) เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยประทับยืนบนฐานบัวหงาย ปูชนียวัตถุสถานวัดเขาน้อย เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อพ.ศ.2525
88888888888888888