www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 4 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2530 คน
52317 คน
1744761 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

 
พระนางซีซี่
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์/ผู้เขียน
ฟราน์ โจเซฟ
รูปวาดพระนางซีสซี่
รูปถ่ายพระนางซีสซี่
 
ไกด์ ชาวออสเตรีย
 
 
ช้อนทองและเครื่องทอง
หน้าพระราชวัง
 
กับคนขับรถม้า หน้าวัง
พระนางซีซี่
ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
24 กุมภาพันธ์ 2552
 
กรุงเวียนนา เป็นเมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ที่มีความสวยงาม มีมหาวิหารเซนต์สตีเฟ่น โบสถ์คาปูชินส์ พระราชวังฮอฟบูร์ก พระราชวังเชินบรุนน์ ในรูปแบบสถาปัตยกรรมกอธิค ที่ดูมั่นคงแข็งแรงสวยงาม และยั่งยืนอยู่ นานหลายร้อยปี 
 
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ผมและคณะได้มีโอกาสเข้าไปชื่นชมความงดงามของพระราชวังฮอฟบูร์ก ที่มีประวัติศาสตร์อันแสนจะยาวนาน และเป็นที่ประทับของราชวงศ์ฮอฟบูรก์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13-20  พระราชวังแห่งนี้ เมื่อดูความยิ่งใหญ่ จะมีห้องโถงกว่า 2,600 ห้อง ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพระราชวังแห่งนี้คงจะมีความสุข สมกับความใหญ่โตอลังการ ของพระราชวัง แต่นั่นเป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ชีวิตไม่ได้สดใส เหมือนอย่างที่เราคิด นั่นคือ ความเป็นอยู่ของจักรพรรดินีอาลิซาเบท หรือรู้จักอีกพระนามหนึ่งว่า พระนางซิสซี่ (Sissi) แต่คนไทยอย่างพวกเรา จะเรียกกันติดปากว่า พระนางซีซี่ ผู้เลอโฉม ผมต้องบอกท่านผู้อ่านว่า ความรู้ที่ผมได้มา เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้จากคำบอกเล่าของไกด์ ผู้สูงวัย ชาวออสเตรีย เท่านั้น บวกกับ สายตาของผมที่ได้เข้าไปชม และการค้นคว้า ที่หาได้อยากยิ่ง 
 
ก่อนที่จะเข้าไปในพระราชวังฮอฟบูร์ก พวกเราต่างตื่นตาตื่นใจ ในความใหญ่โตของพระราชวัง เพราะข้างหน้าจะมีอนุสาวรีย์ และมีรถม้า ที่จะให้บริการกับนักท่องเที่ยว แต่เราก็ไม่มีเวลาพอที่จะนั่งรถม้า คนขับรถม้า แต่ละคน แต่งกายย้อนยุค ในสมัยโบราณ บางคนหนวดยาวโง้งสวยงาม   ม้าก็ยืนสงบนิ่ง ซึ่งรถม้าถือว่าเป็นยานพาหนะที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น 
 
พระราชวังแห่งนี้ มีจักรพรรดิ และจักรพรรดินี ทรงประทับอยู่หลายพระองค์ แต่ทางออสเตรีย เลือกที่จะนำเสนอความเป็นอยู่ของพระนางซิสซี่ ที่มีเรื่องราวน่าสนใจกว่า พระองค์อื่นมาเสนอ โดยชั้นล่างของพระราชวัง จะมีการจัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอย ประเภทช้อนเงินช้อนทอง เครื่องใช้ประเภทแก้ว คริสตัล  สุดยอดแห่งความหรูหรา สมแล้วที่มีวลีเด็ด ที่ว่า เกิดมาก็คาบช้อนเงินช้อนทอง ซึ่งหมายถึง ความเป็นอยู่ที่สุขสบาย เหมือนดั่งอยู่ในพระราชวัง อย่างจักรพรรดินี  
 
มัคคุเทศก์ผู้สูงวัย ชาวออสเตรีย อธิบายให้ฟังว่า พระราชวังฮอฟบูร์ก มีจักรพรรดิหลายพระองค์ ทรงประทับที่นี่ แต่ที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามก็คือเรื่องราวของ พระนางซีซี่ มีเรื่องเล่าว่า พระนางซีซี่ ด้วยวัยเพียง 15 ปี ทรงอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิฟรานซ์  โจเซฟแห่งอาณาจักรออสเตรีย ซึ่งสร้างความไม่พอพระราชหฤทัยของพระมารดา เพราะจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ทรงมีคู่มั่นคือพระนางเฮเลน ซึ่งเป็นพี่สาวแท้ ๆ ของพระนางซีซี่ อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้เราไม่รู้ว่าจะเป็นความผิดของใคร เพราะตอนนั้นผมเชื่อว่า พระนางซีซี่ คงจะสวยสดงดงามสมกับอยู่ในวัยขบเผาะ และคงต้องพระเนตรต้องพระทัย หรือหากพูดตามภาษาชาวบ้านก็คือ ต้องตาต้องใจ ฟรานซ์ โจเซฟ   อย่างแน่นอน และเด็กหญิงชาวยุโรปเชื้อสายบาวาเรีย อย่างซีซี่ มีผมสีดำสนิท ผิวขาวใส แก้มแดงระเรื่อ ดวงตากลมโตสีน้ำตาล ใบหน้าเรียวยาว แถมยังมีเอวคอดกิ่วเล็กเพียง 20 นิ้ว ชนิดที่เรียกว่า เอวบางร่างน้อย ความสูงสมส่วน  ถ้าเป็นผมก็ต้องเลือก ซีซี่ เป็นเนื้อคู่ ใครจะมาทัดทานก็จะต้องข้ามศพไปก่อน ซึ่งผมก็เห็นชาวออสเตรีย และเช็ก  ที่เป็นลูกหลาน เหลน โหลน ที่สืบเชื้อสายบาวาเรีย ก็ต้องบอกว่าสวยงามจริง ๆ เพราะผมได้ถ่ายรูปคู่กับสาวสวยหลายคน ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่า  คนเชื้อสายบาวาเรีย สวยงามสมคำร่ำลือ
 
เมื่อพระนางซีซี อภิเษกสมรส ด้วยความไม่พอใจของพระมารดาพระสวามี พระนางจึงอยู่อย่างลำบากยากแค้นที่ถูกบีบคั้นทางจิตใจ ชีวิตส่วนใหญ่ พระนางจึงอยู่แต่ในห้อง โดยมีคำร่ำลือว่า พระนางซีซี่ จะใช้เวลาสางผม หรือหวีผม วันละไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง และก็ใช้เวลานี้ร่ำเรียนภาษา และศาสตร์ต่าง ๆ ที่พอจะเป็นความรู้ ในขณะเดียวกัน พระนางก็จะใช้เวลาส่วนหนึ่ง ทรงขี่ม้า ซึ่งพระนางก็ทรงขี่ม้าได้อย่างช่ำชอง และคงจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่ลูกสะใภ้กับแม่ผัว มักจะไม่ลงรอยกัน มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกันหลายครั้งหลายหน และในยุคที่พระนางซีซี่ มีชีวิตอยู่ เป็นเวลาที่ชาวยุโรปมีความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองโดยกษัตริย์ ที่มองว่า มีความเป็นอยู่ดีกว่าประชาชนทั่วไป แต่ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น และเริ่มที่จะมีการเรียกร้องให้มีการปกครองโดยประธานาธิบดี 
 
ผมได้เข้าไปชมที่ประทับของพระนางซีซี่ และจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ซึ่งทางการออสเตรีย ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ผมเห็นโต๊ะทรงงาน ซึ่งไม่ใหญ่มากนัก ตั้งวางขวางทางเดิน ซึ่งผมก็พูดกับเพื่อน ๆ ว่า น่าจะตั้งไม่ถูกหลักฮวงจุ้ย    เพราะตั้งขวางทางเดิน ถัดมาก็จะเป็น ห้องบรรทมของพระนางซีซี่ เป็นเตียงเล็ก ๆ ขนาด 3 ฟุต ซึ่งเล็กมาก และผมก็ไม่เชื่อในสายตาน่าจะกว้างใจกว่านี้  ใกล้กันนั้นก็จะมีเผาผิง ที่จะคอยให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และมีรูปปั้นสีขาวเท่าคนจริงของพระนางซีซี่ แค่รูปปั้นผมก็ต้องตลึง  เพราะสวยงามสมคำร่ำลือจริง ๆ ป้ากระต่ายที่ เดินทางไปพร้อมพวกเราถึงกับจ้องพระพักตร์ ของพระนางซีซี่ เอานาน จนผมแปลกใจที่ป้ากระต่าย จ้องอย่างไม่กระพริบตา  ป้ากระต่ายได้เล่าให้ผมฟังในตอนหลังว่ารู้สึกสงสาร พระนางซีซี่ เป็นยิ่งนัก หากถึงเมืองไทย ก็จะได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้พระนางซีซี่ เพราะตอนที่พระนางมีชีวิตอยู่ แม้นจะอยู่ในรั้วในวัง ก็ไม่ได้มีความสุขสบาย อย่างสามัญชน ที่คนข้างนอกเข้าใจ   ต้องคอยถูกแม่ผัวกลั่นแกล้งสารพัด ยิ่งกว่านิยาย และอาจจะยิ่งกว่า หมอลำ หรือลิเก ที่นำเรื่องแม่ผัวกับลูกสะใภ้มาเล่นกัน  
 
ณ ที่นี้ ผมได้เห็นห้องพระบังคน หรือ ห้องสุขา นั่นเอง ห้องพระบังคน ของพระนางซีซี่ ถือว่าเป็นห้องน้ำที่ทันสมัยมาก เพราะมีชักโครก สำหรับขับถ่ายเหมือนกับชักโครกที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มีฝารองนั่งเป็นไม้ ไม่ใช่พลาสติค เหมือนปัจจุบัน  ส่วนโถใส่น้ำจะอยู่สูงประมาณ 1 เมตร เหนือศีรษะ  เวลาจะกดน้ำก็จะมีสายดึง   ให้วาวล์น้ำ เปิดเพื่อให้น้ำไหลลงมาชำระล้าง ในรายละเอียดของเรื่องส้วม ผมได้เขียนไว้ในเรื่อง ส้วม ปั้ม ขับรถ และเติมน้ำมัน 
 
ถัดจากห้องพระบังคน หรือ ห้องสุขาก็จะเป็น ห้องเสวยพระกระยาหาร โดยโต๊ะอาหาร จะเป็นโต๊ะที่ตั้งเป็นแถวยาว สามารถนั่งหันหน้าชนกัน ทานอาหารได้พร้อมกันประมาณ 20 คน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่จะทานอาหารทุกคนในราชวงศ์ก็จะต้องมาเสวยอาหารพร้อมกัน ส่วนช้อนก็จะถูกวางอย่างเป็นระเบียบ ตามรูปแบบของราชสำนัก อุปกรณ์ที่เป็นโลหะส่วนใหญ่ก็เป็น โลหะที่ทำด้วยทองคำ และเงิน สวยงามระยับ ที่สำคัญเป็นของแพงและมีค่า ถัดจากห้องเสวยพระยาหาร ทางการก็จัดให้เป็นห้องขายของที่ระลึก ส่วนใหญ่จะมีรูปพระนางซีซี่ปรากฏ เช่น ถ้วยแก้ว   ร่ม เสื้อ หมวก แม้กระทั่งถุงกระดาษก็จะมีพระฉายาลักษณ์ของพระนางซีซี่ ปรากฏอยู่ ซึ่งผมก็เก็บมาเป็นของที่ระลึกด้วย
 
หลังจากที่พระนางซีซี่ อภิเษกสมรสกับจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ เพียงหนึ่งปี พระองค์ก็ได้ให้กำเนิดพระธิดาพระนามว่าโซฟี ปีถัดมาก็ได้ให้กำเนิดพระธิดาองค์รอง พระนามกีเซล่า และสุดท้ายทรงให้กำเนิดมกุฎราชกุมาร รูดอล์ฟ  ภายหลังเมื่อ รูดอล์ฟ ทรงมีพระชนมายุ 30 พรรษา ก็ทรงทำอัตวินิบาตรกรรม ตัวเอง ที่ป่าเวียนนาวู้ดคฤหาสน์ เมเยอร์ลิงพร้อมด้วยสาวน้อยวัย 18 ปี ชื่อ แมรี่ อเล็กซานเดรีย บารอนเนส เวทเซร่า ธิดาองค์ที่ 3 ของ นายบารอนเวทเซร่า กับ นางเฮลีน บัลทาเซซี จากตระกูล นายธนาคารซึ่งเป็นชู้รัก ของพระองค์ สาเหตุที่ รูดอล์ฟ ฆ่าตัวเอง อาจจะเป็นเพราะผิดหวังในความรักที่ทรงถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ตนไม่รัก   และ อาจจะเป็นโรคร้าย ประเภทโกโนเรีย หรือซิฟิลิส เนื่องจากมีข่าวในทางลับว่าทรงนอนกับหญิงอื่นอย่างไม่เลือกหน้า  เรื่องนี้หาอ่านได้ในนิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 นะครับ
เรามาเล่าเรื่องพระนางซีซี่ต่อกันดีกว่านะครับ อย่างที่ผมบอกในตอนต้นว่า คนยุโรปในสมัยนั้น เริ่มไม่พอใจในการปกครองของระบอบกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2441 (ค.ศ.1898)(เป็นช่วงเดียวกันกับสมัยรัชกาลที่ 5 )ได้เกิดเหตุการณ์ คนร้ายได้ใช้เหล็กแหลมแทงพระนางซีซี่ ตรงหัวใจพอดี้พอดี   ขณะที่พระนางเสด็จประพาสเพื่อที่จะลงเรือที่ทะเลสาบเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมพรรษา 63 ปี ส่วนคนร้ายทราบชื่อในภายหลังคือ นายเบนีโต ชาวอิตาลี ให้การรับสารภาพ ว่า ในความเป็นจริง จะสังหารกษัตริย์องค์อื่น แต่พอดีที่พระนางซีซี เสด็จมาก่อน ด้วยความโกรธแค้นที่ ระบอบจักรพรรดิ ไม่ได้ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนเท่าที่ควร จึงหาทางกำจัด ให้หมดไป พระนางซีซี่ จึงตกเป็นเหยื่อ ชนิดที่โชคร้ายที่สุด เพราะนอกจากจะถูกแม่ผัวไม่ชอบขี้หน้าแล้ว ยังต้องทนทุกข์ไม่มีความสุข ในพระราชวังที่ไม่ค่อยให้ความอิสระ เสรี เหมือนดั่งบ้านเกิดของพระนาง จนเรื่องราวของพระนางซีซี่ ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ออกฉายไปทั่วโลก สร้างความสะเทือนขวัญ ต่อผู้ชมเพราะรู้สึกสงสารพระนางอย่างจับใจเป็นที่สุด   เพราะในชีวิตจริงของพระนาง ทรงสูญเสียพระธิดาองค์โตคือ โซเฟีย และเจ้าชายรูดอล์ฟ ที่ทรงฆ่าตัวตาย หนีปัญหา เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า แท้จริงในราชวังที่เรามองว่าอยู่อย่างสุขสบาย มีสนมรับใช้ ตลอดเวลา กลับมีแต่ความยุ่งยากซับซ้อน ไม่สบายอย่างที่เราคิด ยิ่งภายในราชวงศ์ทะเลาะเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ชีวิตจริงก็ไม่ต่างจากลิเก ที่ศิลปินพื้นบ้านนำมาละเล่นกัน นั่นคือความจริงที่สุด ครับ 
* * * * * * * * * * * * * *
  

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com