www.narongthai.com  

www.narongthai.com เป็นเว็บไซต์เชิงวิชาการ ที่สามารถนำอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ                                                                                                                                                                                                                                                                           
 

 ณรงค์ ชื่นนิรันดร์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100010475651732
สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง

 

 

 

 

 

 

 สถิติวันนี้ 2 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2528 คน
52315 คน
1744759 คน
เริ่มเมื่อ 2010-01-13

              

น้ำท่วมชุมพร...ครั้งใหญ่ ตอนที่ 1

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์

22-31 สิงหาคม 2540
 
ชุมพร เป็นประตูสู่จังหวัดทางภาคใต้   มีพื้นที่ ด้านทิศตะวันออกติดฝั่งอ่าวไทย ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดระนอง และประเทศพม่า ทิศใต้ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศเหนือติดกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผมให้ข้อมูลด้านพื้นที่ของจังหวัดชุมพร เพราะว่า ท่านจะได้ทราบว่า ภูมิประเทศของชุมพรเป็นอย่างไร 
 
จังหวัดชุมพร มีทางรถไฟผ่านตัวเมือง การเดินทางไปกรุงเทพหรือลงใต้โดยรถไฟจึงสะดวกสบายที่สุด   ส่วนถนนทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม ไม่ผ่านตัวเมือง ยังมีหลายท่านยังมีความเข้าใจผิดว่า บริเวณสี่แยกปฐมพร หากตรงไปจะเป็น ทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดนะครับ สิ่งที่ถูกต้องคือ เมื่อเราขับรถถึงสี่แยกปฐมพร ถ้าเลี้ยวขวา ไปจังหวัดระนอง ถนนเส้นนี้เรียกว่า ทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม ผ่าน ระนอง แล้ว เรื่อยไป ถึง อ.ตะกั่วป่า ผ่าน เขาหลัก ผ่านอำเภอท้ายเหมือง ผ่านตำบลโคกกลอย ผ่านตัวเมืองพังงา ผ่านเขานางหงส์ ผ่านอำเภอทับปุด ผ่านจังหวัดกระบี่ ผ่านจังหวัดตรัง ผ่านเขาพับผ้า ผ่านตัวเมืองพัทลุง ผ่านอำเภอหาดใหญ่ ผ่านอำเภอสะเดา และไปสิ้นสุดที่ ตำบลปาดังเบซา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นี่คือเส้นทางของทางหลวงหมายเลข 4  ซึ่งเป็นทางหลวงที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ในข้อสอบระดับประถมมีถามกันบ่อยมาก   ที่นี้ถ้าท่านมาถึง สี่แยกปฐมพร แล้วตรงไปหล่ะ ไปไหน ก็ขอบอกว่า ถ้าตรงไปจะเรียกว่าทางหลวงสายเอเชีย ถนนเส้นนี้จะไป อำเภอสวี   อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร หากตรงไปอีกไม่ต้องไปเลี้ยวที่ไหน ก็จะไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 4 ที่จังหวัดพัทลุง เอ้าลืมบอกไป ถ้าถึงสี่แยกปฐมพร แล้วเลี้ยวซ้ายหละ ไปไหน ก็ต้องบอกว่า เป็นทางเข้าตัวเมืองชุมพร ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ครับ 
 
จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดหนึ่งที่ผมมีความผูกพัน เพราะผมเคยไปทำงานเป็นผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพรเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน 2540 ก็ถือว่าเป็นการย้ายที่ทำงานของผมเป็นครั้งแรก เพราะเดิมผมทำงานเป็นผู้สื่อข่าว ซี 5 ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ภูเก็ต จึงทำให้ผมรู้ถึงความแตกต่างของสภาพอากาศ เป็นอย่างดี ต้องบอกว่า ที่จังหวัดภูเก็ต ช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน – พฤษภาคม ของทุกปี ฝั่งทะเลอันดามันคลื่นลมจะสงบ และเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ภาษาการท่องเที่ยวเขาจะเรียกว่า High Season นักท่องเที่ยวจะมาภูเก็ต ก็ช่วงนี้แหล่ะครับ แต่ทางจังหวัดชุมพร หรือจังหวัดที่อยู่ติดกับอ่าวไทย จะเป็นช่วงมรสุม ลมแรง และจะเกิดน้ำท่วม ในบางพื้นที่ 
 
และก็เป็นจริงครับ ผมอยู่ที่ชุมพรไม่ถึง2เดือน (สิงหาคม) ก็เกิดพายุโซนร้อน ชื่อ ซีต้า ฝนตกติดต่อกันหลายวัน น้องที่ทำงาน บอกว่า “พี่ แก้ว ตกแบบนี้ไม่ท่วมหรอกพี่ อย่างเก่งก็ตาตุ่ม ” ผมถามต่อว่า“แล้วถ้าเกิดท่วมหนัก พี่จะเอารถไปเก็บไว้ที่ไหน ” “เรื่องนี้ไม่ยาก ให้พี่เอารถยนต์ไปจอดที่สถานีรถไฟชุมพร เพราะค่อนข้างสูง น้ำไม่ท่วม” ผมก็ฟัง แล้ววิเคราะห์อยู่ในใจ ว่า ถ้าตกแบบนี้อีก 3 วัน ต้องท่วมหนัก 
 
ผมต้องย้ำว่า ผมมีอาชีพเป็นนักข่าว สิ่งที่นักข่าวต้องมีคือ “สังเกต สงสัย และสอบถาม   ” เราต้องรู้จักสังเกต รอบ ๆ ตัวเรา ว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น ฝนตกชนิดที่เรียกว่าไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งต้องรู้อีกว่า ถ้าฝนตก ติดต่อกันชนิดที่มองไปข้างหน้า ประมาณ 50 เมตร เห็นภาพลาง ๆ มีสายฝนเป็นม่านหมอก ฝนตกติดต่อกันหลายชั่วโมง และติดต่อกันหลายวัน ให้ทำนายได้เลยว่า ฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร ไม่ช้า น้ำจะท่วมพื้นที่ลุ่ม ทันที เพราะระบายไม่ทัน  หากยังตกอีก น้ำจะท่วมสูง 3-4 เมตร 
 
ความจริงความหนักเบาของฝนก็ขึ้นกับขนาดของสภาพอากาศ ซึ่งอุตุนิยมวิทยา ก็ได้แบ่งแยกไว้แล้ว ทั้ง เรื่องของประเภทพายุ เรื่องความเร็วลม สิ่งเหล่านี้สามารถหาข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ แต่สิ่งที่ผมเล่าให้ฟังอยากจะให้ท่าน ได้เรียนรู้ ในเรื่องการสังเกต สิ่งตามมาคือ สงสัย การเป็นนักข่าวที่ดีต้องเป็นคนขี้สงสัย  และต้องสอบถาม ถามคนอื่นที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อหาข้อมูล    หาไม่มีใครที่จะถาม เราก็ถามตัวเอง พูดคุยกับตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น ถามว่า ทำไมฝนตก ฝนแบบนี้ กี่มิลลิเมตร   ฝนตกแล้ว น้ำจะไหลไปไหน เกิดน้ำท่วมแล้ว ใครจะมาช่วย สิ่งของตรงตามต้องการของผู้ประสบน้ำท่วมไหม    เป็นต้น  
 
แค่ 3 ข้อ คือ สังเกต สงสัย สอบถาม ก็จะทำให้เรารอดพ้นจากน้ำท่วม และจะเป็นนักข่าวที่ดีมีความสามารถได้   ชนิดที่เรียกว่าทันคนทันข่าว 
 
เอาหละ เรามาดูการเกิดน้ำท่วม ชุมพร และการปฏิบัติการ สื่อข่าว ว่าพวกเราทำกันอย่างไร ก่อนเกิดน้ำท่วมหนัก สถานีตรวจอากาศจังหวัดชุมพร ได้ส่งพยากรณ์อากาศมาให้เป็นระยะ ทำให้เรารู้ว่า ในทะเลจีนใต้ได้เกิดพายุโซนร้อน ชื่อ ซีต้า   และกำลังเคลื่อนตัว ลงใต้ ผ่านแหลมญวน  มุ่งหน้า สู่อ่าวไทย และจะขึ้นฝั่งที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือจังหวัดชุมพร ทั้งสองจังหวัดจะได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยจะเกิดน้ำท่วมหนัก ส่วนจังหวัดอื่น ๆ คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ลุ่มจะมีน้ำท่วม ส่วนจังหวัดอื่นนอกจากนี้จะได้ผลกระทบจากพายุซีต้า ด้วย รวมทั้ง จังหวัดที่ตั้งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน
 
วันต่อมา ศูนย์กลางพายุซีต้า ได้เคลื่อนตัวมาอยู่บริเวณอ่าวไทย พร้อมที่จะขึ้นฝั่งด้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และ ชุมพร    ตรงนี้แหล่ะครับที่ผมได้รับความรู้จาก คุณทวีป วัฒนไชย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดชุมพร ว่า ถ้ามีลมหนาว ที่เรียกว่าความกดอากาศต่ำ จากประเทศจีนมาปะทะ พายุ หมายถึงความหนาวเย็น แผ่ลงมาต่ำ ก็จะทำให้ศูนย์กลางของพายุเข้าจังหวัดชุมพร อย่างแน่นอน แต่ถ้าอากาศไม่หนาวมากนัก ศูนย์กลางของพายุก็จะพัดเข้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พวกเรารู้สึกตื่นเต้น และลุ้นว่าพายุซีต้าจะเข้าจังหวัดไหน เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจอากาศส่ง แผนที่อากาศมาให้ดูเกือบทุกต้นชั่วโมง    จึงทำให้เห็นเส้นทางการเดินทางของพายุ อย่างชัดเจน ในที่สุด ศูนย์กลางของพายุ ซีต้า ได้พัดเข้า จังหวัดชุมพร ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมาก ชนิดที่ผมบอกว่า ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา (ฝนเล็กน้อย(Light Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 0.1 มิลลิเมตร ถึง 10.0 มิลลิเมตร   ฝนปานกลาง(Moderate Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 10.1 มิลลิเมตร ถึง 35.0 มิลลิเมตร ฝนหนัก(Heavy Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 35.1 มิลลิเมตร ถึง 90.0 มิลลิเมตร ฝนหนักมาก(Very Heavy Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตร ขึ้นไป: ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา )  
 
ก่อนน้ำท่วมหนัก 1 วัน ผมได้นำรถยนต์ ส่วนตัวของผม ยี่ห้อ Mitsubishi รุ่น colt mirage  ซึ่งเป็นรถคู่ชีพของผม  ขึ้นไปเก็บที่ เขาสามแก้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ชุมพร    เพราะผมประเมินสถานการณ์แล้ว น้ำท่วมชุมพรแน่ แต่คิดว่าไม่ใช่ท่วมแค่ตาตุ่ม และผมก็ไม่คิดว่า น้ำจะท่วมชุมพร หนัก ชนิดที่ว่า ท่วมทางรถไฟ เพราะน้อง ๆ บอกผมว่า ทางรถไฟจะรอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน หลายคนเอารถไปจอดที่สถานีรถไฟ ซึ่งก็ถูกน้ำท่วม หมดทุกคัน 
 
รุ่งขึ้น พี่กำพล อินทวงษ์ หัวหน้าสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ช่อง 11 ชุมพร โทรมาบอกผมว่า คุณณรงค์ น้ำมาแล้ว ตอนนี้โรงพักเมืองชุมพร เริ่มท่วมแล้ว บ้านพักรถไฟ ก็เริ่มท่วมถึงชั้นสองแล้ว ผมบอกกับพี่กำพล ว่า “ให้พี่มารับผม ที่หน้าโรงแรมจันทร์สมธารา เดี๋ยวผมจะไปซื้อแกง สัก 2 ถุงขึ้นไปกิน ” พี่กำพล ตกลงโอเค จะมารับผม ตอนนั้นผมยังไม่คิดว่า น้ำจะท่วมหลายวัน จึงไม่ได้เอาชุดไปเปลี่ยน ประมาณ สัก 8 โมงเช้า พี่กำพล ก็ขับรถกระบะยี่ห้อนิสสัน ตอนเดียว ลุยน้ำมารับผมที่หน้าโรงแรม เพราะว่าบ้านพักผมอยู่ซอยสุขเสมอ และอยู่ใกล้จุดนัดพบมากที่สุด พี่กำพลบอกกับผมว่า “คุณณรงค์ ตอนนี้น้ำมาจากท่าแซะ ที่ท่าแซะ น้ำท่วมหมดแล้ว อีกไม่เกิน 2 ชั่วโมงน้ำจะท่วม ชุมพร อย่างหนัก ” ผมก็ได้แต่ฟังพี่กำพล และนึกอยู่ในใจว่า มันจะท่วมเร็วขนาดนั้นเลยหรือ ยังไม่ทันขาดคำ น้ำเริ่มท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่คุยกันเมื่อสักครู่   ตอนนี้น้ำเริ่มท่วมล้อเกือบมิดแล้ว ดีที่ว่ารถยนต์เป็นเครื่องดีเซล พี่กำพล บอกว่า “เราไปทางเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องอ้อม ไปทางเลียบชายทะเล พี่คิดว่ามันไม่เสี่ยง ” “ไปก็ไปพี่ เพราะผมก็ไม่รู้เส้นทาง ขอให้ไปให้ถึงสถานีก็แล้วกัน ” พี่กำพล ขับรถลุยน้ำท่วมมาตลอดทาง จนมาถึงทางเลียบชายทะเล ช่วงนี้น้ำยังมาไม่ถึง และสุดท้ายน้ำที่ท่วมทั้งหมดก็จะมาลงทะเลที่นี่ แต่เมื่อผมดูปรากฏว่า มีสะพานเล็ก ๆ ไม่กี่แห่ง “พี่กำพล ผมว่า ถนนเส้นนี้ จะเป็นเขื่อนกั้นน้ำอย่างดี ดูสิ สะพานก็แคบ น้ำระบายไม่ทันหรอก มันต้องมีสะพานระบายน้ำให้มากกว่านี้ ” และก็เป็นจริงอย่างที่ผมว่า ถนนเส้นนี้ กลายเป็นเขื่อนอย่างดีที่เป็นแนวกั้นน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเล และผมเชื่อว่าถ้าไม่มีถนนเส้นนี้ น้ำจะไม่ท่วมชุมพรหนักขนาดนี้  พี่กำพล ไม่ได้สนใจอะไร มองแต่ทางที่จะพาผมไปสถานีให้ได้ จนในที่สุด พวกเราก็มาถึง สถานี จนได้ 
 
หลังจากที่พี่กำพล  ได้มาส่งผมที่สถานีแล้ว  จากนั้นพี่กำพล  ได้พา น้องสุริโย  ออกไปทำข่าว  เพราะมีข่าวว่า น้ำได้ไหลท่วมบริเวณสี่แยกปฐมพร ซึ่งเป็นทางแยกใหญ่  ที่เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคใต้  เพราะถ้าเลี้ยวขวาก็จะไป ระนอง ตะกั่วป่า พังงา  หรืออาจจะไปถึงภูเก็ต ก็ใช้เส้นทางนี้ ซึ่งเรียกถนนช่วงนี้ว่า ทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม แต่ถ้าอยู่ที่แยกปฐมพร  ขับรถตรงไปก็จะสามารถไปจังหวัดสุราษฏร์ธานี  ตรงไปจนถึงพัทลุง และก็หาดใหญ่ได้ ช่วงนี้ สุริโย บอกว่า น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและถนน  จนรถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถขับผ่านไปได้  เพราะน้ำขึ้นเร็วมาก  เมื่อ สุริโย  ถ่ายภาพเสร็จแล้ว  ก็รีบกลับมาพร้อมกับพี่กำพล  ซึ่งลัดเลาะมาทางลัด  ในขณะที่น้ำไล่หลังรถมาติด ๆ  แทบเอาตัวไม่รอด 
 
ฝนยังไม่หยุดตก ทีมข่าว ของสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ ออกไปทำข่าว ผมต้องบอกว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ชุมพร ความจริงเป็นเพียงสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์เท่านั้น แต่ด้วยจิตสำนึกในความเป็นข้าราชการที่จะให้ชาวชุมพร ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร จึงมีการผลิตข่าวท้องถิ่นออกอากาศทุกวัน โดยเอาช่างเทคนิคมาเป็นผู้สื่อข่าวและถ่ายภาพ ตอนนั้น ก็มี สมจิตร ศิริภูธร สุริโย เกื้อสกุล  นายอารมณ์ มาดด้วง    ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ อยู่ไม่มาก   ผมต้องชื่นชมการทำงานของน้อง ๆ ทุกคน รวมทั้งพี่กำพล ด้วย ครับ ส่วนการส่งข่าวไปกรุงเทพตอนนั้นยังส่งไม่ได้ แต่พี่กำพลได้ยืม Up Link จาก สถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ช่อง 11 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมี คุณวินัย พิมพ์ศร เป็นหัวหน้าสถานี    เพื่อใช้ส่งข่าวในพระราชสำนักเท่านั้น เมื่อเสร็จภารกิจก็ต้องส่งคืน 
 
ผมเริ่มติดต่อ คุณชูชาติ เทศสีแดง บก.ข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรุงเทพ เพื่อประสานงานด้านข่าว ซึ่งคุณชูชาติ ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี ให้ผมรายงานข่าวทุกต้นชั่วโมง รวมทั้งข่าวภาคบังคับด้วย วันแรกที่ผมรายงานข่าว ผมคิดว่าจะมาวันเดียว แล้วก็กลับไปนอนที่ห้องเช่า ใกล้ศาลากลาง จังหวัดชุมพร แต่ไปไม่ได้ครับเพราะน้ำท่วมหลังคารถสิบล้อแล้วครับ ผมจึงอยู่ในชุดเดียวตลอด 10 วัน นอนก็ชุดนี้ อ่านข่าวก็ชุดนี้ จนถูกแซวว่า ไม่มีเสื้อใส่รึไง ก็ต้องบอกว่า ไม่มีครับ แต่กางเกงลิงไม่ใส่ก็ได้ ที่นอนของผม ง่ายมากครับ ผมนอนในรถยนต์ นั่นแหล่ะครับ นอนฝั่งคนขับ เปิดกระจก ลงเล็กน้อย เพื่อให้อากาศถ่ายเท ผมก็เพิ่งรู้ว่า  นอนในรถยนต์สบายดี   หลับเป็นตาย เพราะตลอดทั้งวัน ผมต้องทำข่าวและรายงานข่าว จนถึง 5 ทุ่ม ทุกวัน 
 
วันแรกที่น้ำท่วมชุมพร   พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ยังไม่ทราบว่า น้ำท่วมชุมพร คิดว่า ท่วมแค่ตาตุ่ม เพราะบรรยากาศที่กรุงเทพกำลังอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนและไม่มีฝน และทางรัฐบาลกำลังจัดงานรวมพลังที่สนามหลวง  เย็นวันนั้น นายวราเทพ รัตนากร   โฆษกรัฐบาล ได้โทรศัพท์มาสอบถามผมถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่าเหตุการณ์รุนแรงขนาดไหน ท่ามกลางเสียงรบกวนเพราะว่าคุณวราเทพ อยู่ในงาน  ซึ่งผมก็ต้องตะเบงเสียงตอบ ไปว่า น้ำท่วม ค่อนข้างหนัก ขนาดบ้านเรือนชั้น 2 ที่อยู่ในเขตตัวเมือง ถูกน้ำท่วมแล้ว ผมได้ขอร้องให้ ทางรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ประกาศให้จังหวัดชุมพร เป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที เพราะน้ำท่วมรุนแรงมาก ซึ่งโฆษก รัฐบาลก็รับข้อเสนอของผมไป แต่ก็รู้สึกว่าจะไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่นัก เพราะกรุงเทพ ไม่มีฝนสักเม็ด
 
วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 19.00 น. นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย สภากาชาดไทย เดินทางมาถึง สถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ช่อง 11 ชุมพร   ตอนนั้นฝนยังคงตกหนัก อยู่ตลอดเวลา ผมได้บรรยายสรุปให้ รมช.ชัยภักดิ์ ได้รับทราบสถานการณ์   น้ำท่วม ซึ่งข้าราชการ ที่มีตำแหน่ง ค่อนข้างใหญ่กว่าเพื่อน ก็คือ ผม กับพี่กำพล หัวหน้าสถานี แต่พี่แก ก็ให้ผมรายงาน ให้รัฐมนตรีฟัง เพราะเห็นว่าผม คล่องดี เอ้า รายงานก็รายงาน ตอนนั้นผมจำได้ว่า ผมพับขากางเกง หนีน้ำ อยู่เลย แต่ผมก็อธิบายให้รัฐมนตรีฟังอย่างใกล้ชิด “ท่านรัฐมนตรี ครับ ผมชื่อณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัด ชุมพร ขอรายงานให้ท่านทราบเบื้องต้นว่า ได้เกิดฝนตกติดต่อมาหลายวัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยท่วมพื้นที่ทางด้านทิศใต้ของจังหวัดชุมพร ก่อนตั้งแต่ด้านอำเภอพะโต๊ะ หลังสวน ละแม   สวี   ทุ่งตะโก มีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตหลายรายที่จมน้ำ ครับ ”  ผมอธิบายให้รัฐมนตรีทราบ และรัฐมนตรีชัยภักดิ์ ถามผมว่า “ตอนนี้ พวกเราทำอะไรบ้าง ” “พวกเราจัดรายการวิทยุ ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนโทรทัศน์ ก็ออกข่าวทุกต้นชั่วโมงครับ เพื่อรายงานข่าวให้คนที่อยู่นอกพื้นที่ได้รับทราบถึง สถานการณ์น้ำท่วม ครับ  และเรายังตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อเป็นสื่อกลางให้หน่วยกู้ภัย เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผมมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวที่ใช้ได้อยู่ คือระบบ 800 ครับ   ” รัฐมนตรีชัยภักดิ์   รับทราบการเข้าไปช่วยเหลือ และสถานการณ์น้ำท่วม จึงได้เดินทางต่อไปพบ นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  
 
ผมอยากจะบอกท่านผู้อ่านว่า   การที่เราจะไปช่วยใครสักคน เราจะต้องตรวจสอบอุปกรณ์ที่จะนำไปช่วยให้ดี ซึ่งผมได้เจอกับตัวเองแล้ว คือ วันนั้น สภากาชาดไทย ได้นำเรือ ยาง เพื่อที่จะใช้ขนอุปกรณ์การช่วยชีวิตและอาหาร ให้แก่ผู้ประสบภัย ปรากฏว่า มีน้ำมัน แต่ไม่มีน้ำมัน ทูที หรือน้ำมันที่เรียกว่า อุตเตอร์ลูป  เรือก็ไม่สามารถติดเครื่องได้ ผมก็ต้องทำหน้าที่ประกาศข่าวให้ชาวบ้าน นำน้ำมันเครื่องทูที สำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ และน้ำมันเบนซิน ตลอดจน น้ำมันดีเซล มาบริจาคที่สถานี จะได้นำไปเติมเครื่องยนต์   ต้องเสียเวลา นานกว่าชั่วโมง กว่าจะได้น้ำมัน และทำให้เกิดความล่าช้า ในการเข้าไปช่วยเหลือเพราะ ประชาชน บางคน ติดอยู่บนหลังคาบ้าน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้นต้องตรวจสอบให้ดี ก่อนจะนำเครื่องไปใช้ไม่ต้องรีบร้อน  นะครับ
 
การทำข่าว ของผม ตอนนั้นสนุกมากแม้นว่า จะอยู่ในช่วงวิกฤติก็ตาม   ผมจะใจเย็นมาก และมักจะสร้างอารมณ์ขันให้ทุกผ่อนคลายโดยผมจะพูดล้อเลียนโฆษณาการบินไทยที่ฝรั่งพูดไม่ชัดว่า “ใจ เย็น เย้น ...” ในโฆษณาชิ้นนั้น  เป็นภาพของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ขึ้นรถแท็กซี่ ที่ต่างประเทศโดยมีฝรั่งขับ เพื่อให้ไปส่งสนามบิน ขึ้นเครื่องการบินไทย และเครื่องกำลังจะออก ฝรั่งคนนั้นก็เลยพูดว่า โอ้ ...ใจเย็น เย้น ผมก็เลยเอามาเตือนสติในการทำงานว่าต้องใจเย็น ๆ อย่าง ลุบ ๆ (ภาษาใต้)   หรือรีบ ๆ และค่อย ๆ รวบรวมสติ  มันจะทำให้เรานิ่ง และเกิดแนวความคิด ที่จะทำข่าว ให้บรรลุเป้าหมาย ได้เป็นอย่างดี 
 
เมื่อน้ำท่วมเข้าสู่วันที่ 3 ทำให้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ชุมพร ถูกน้ำท่วม จนทำให้ต้องหยุดการออกอากาศ แต่ก็ยังโชคดี   ที่เครื่องส่ง ตั้งอยู่ที่เดียวกับเครื่องส่งโทรทัศน์ ช่อง 11 ชุมพร ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม ดังนั้น เราได้รับคำสั่งจากผู้ว่า คงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์   ให้ออกกาศต่อไป อย่าหยุดเพราะวิทยุ เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ให้ข่าวสาร   กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วม   แต่ก็มีเหตุจนได้ ครับ เอาไว้ตอนหน้าจะเล่าให้ฟัง  (มีต่อตอนที่ 2)
 
* * * * * * * * * * *

คลิ๊กนี้มีความหมาย

ณรงค์ ชื่นนิรันดร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 : Webmaster by Narong Cheunniran : อีเมล์ :narongthai53@gmail.com